ความกลัว เป็นพฤติกรรมปกติของมนุษย์ มนุษย์เราต้องมีความกังวลหรือความกลัว เพื่อปกป้องตัวเองให้ปลอดภัย ธรรมชาติของเด็กจะกลัวสิ่งต่าง ๆ มากที่สุดในช่วงอายุ 3-5 ปี และจะมีพัฒนาการเรื่องความกลัวที่เป็นไปตามช่วงวัย การกลัวคนแปลกหน้า กลัวความมืด ในเด็กวัยนี้ ก็ถือว่าเป็นความกลัวตามปกติ แต่ถ้าความกลัวมีมากเกินไป และติดตัวจนเข้าสู่วัยรุ่นก็ก่อให้เกิดผลเสียอื่น ๆ ตามมาได้
สาเหตุที่ทำให้เมื่อคุณลูกเป็น”เด็กขี้กลัว” เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
ความกลัวจากการถูกขู่ เช่น เวลาลูกดื้อ พูดอย่างไรก็ไม่ฟัง คุณแม่มักใช้วิธีหลอก หรือขู่ เช่น เดี๋ยวตุ๊กแกกินตับ จนเด็กกลายเป็นคนกลัวตุ๊กแก ทั้งๆ ที่เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตุ๊กแกหน้าตาเป็นอย่างไร ยิ่งพ่อแม่ขู่ว่า ตุ๊กแกซ่อนอยู่ตรงโน้นตรงนี้ เค้าก็อาจได้ของแถมเป็นการกลัวการอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคยหรือที่แคบๆ เพราะคิดว่าเจ้าตุ๊กแกตัวร้ายอาจโผล่มาเมื่อไหร่ก็ได้
ความเครียด กังวล ซึ่งอาจเกิดจากพฤติกรรมของคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ทะเลาะกันเสียงดัง ตะโกนใส่กัน ก็ทำให้เด็กกลัวคนที่เสียงดังๆ เพราะเค้าจะรู้สึกไม่สบายใจเหมือนกับว่าพ่อแม่ทะเลาะกันอยู่
การดูรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ที่มีภาพน่ากลัว ขนาดผู้ใหญ่ยังตื่นเต้น แล้วเด็กเล็กๆ ที่มีประสบการณ์น้อยกว่า แต่จินตนาการสูงกว่าจะไม่กลัวได้อย่างไร
กลัวเพราะเกิดจากประสบการณ์ที่ได้รับ เช่น ถูกขังในห้องมืดๆ ทำให้กลัวความมืด หรือจมน้ำ สำลักน้ำทำให้เค้าไม่กล้าว่ายน้ำ ถูกสุนัขกัดทำให้กลัวสุนัข เป็นต้น
เลียนแบบความกลัวจากผู้ใหญ่ อย่างเช่น ถ้าคุณแม่กลัวแมลงสาบ แล้วแสดงท่าทางออกมาให้ลูกรับรู้ เค้าก็จะเข้าใจว่าแมลงสาบเป็นสิ่งน่ากลัว
พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ด้านทารกแรกเกิดได้พูดถึงวิธีการที่ช่วยลดความกลัวของลูกน้อย ดังนี้
1. เข้าใจความกลัวของลูก : เพราะว่าลูกยังเป็นเด็ก กำลังเรียนรู้โลก และพัฒนาความคิดจินตนาการ ดังนั้นทุกสิ่งที่ลูกเห็นหรือได้ยิน อาจทำให้ลูกเกิดความกลัวสิ่งต่างๆ เช่น ความมืด ปีศาจร้ายในห้องมืด เด็กแต่ละคนเริ่มกลัวที่อายุแตกต่างกันไป มีความรุนแรงไม่เท่ากัน และ กลัวสิ่งต่างๆไม่เหมือนกัน ดังนั้นวิธีเอาชนะความกลัวที่ได้ผลกับเด็กแต่ละคน จึงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับอายุ พัฒนาการ และความสามารถในการจัดการกับความเครียดของเด็กแต่ละคน
2. คุยกับลูก : การคุยกับลูกจะช่วยให้ลูกรู้สึกสบายใจขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าความกลัวให้ฟัง ว่ากลัวอะไร เพราะอะไร ให้ลูกระบายความรู้สึกออกมา ให้ลูกเห็นว่าคุณสนใจความรู้สึกของลูก เล่าให้ลูกฟังว่า ตอนคุณเป็นเด็ก คุณก็เคยกลัวหลายๆอย่าง ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเข้าใจในความกลัวของลูก จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณและลูกแน่นแฟ้นมากขึ้น ทำให้ลูกรู้ว่าคุณใส่ใจและแคร์ความรู้สึกของลูก
3. ใช้คำพูดที่เหมาะสม : อย่าใช้คำพูด “อย่าทำตัวเป็นเด็กทารก” “อย่าปอดไปหน่อยเลย” “ดูเพื่อนของลูกสิ ไม่เห็นกลัวเลย” ฯลฯ เพราะจะทำให้ลูกเชื่อว่า ความรู้สึกกลัวเป็นสิ่งที่ผิด และ ต่อไปลูกจะไม่มาเล่าสิ่งที่ลูกกลัวให้คุณฟัง ให้พูดว่า “การรู้สึกกลัวเป็นสิ่งปกติ” และ บอกลูกว่า การที่ลูกเล่าให้พ่อแม่ฟังเพื่อขอความช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
4. อย่าละเลยความกลัวของลูก : ถ้าลูกกลัวญาติ พี่เลี้ยงเด็ก หรือ เพื่อนบ้านบางคน จงอย่าละเลยแล้วบังคับให้ลูกอยู่กับคนที่ลูกกลัว แต่ให้ลูกอธิบายว่าเพราะอะไรถึงได้กลัวคนๆนั้น ถึงแม้ว่าคุณจะรู้สึกว่าคนๆนั้นไม่น่ากลัว แต่ก็ควรสงสัยบ้างถ้าลูกกลัวผิดปกติ
5. อย่าหัวเราะเยาะลูก : การทำเช่นนี้ไม่ได้ช่วยให้ลูกกลัวน้อยลง แต่จะทำให้ลูกวิตกกังวลมากขึ้น และ ทำให้ลูกเป็นเด็กที่ไม่มั่นใจในตัวเอง ลูกจะเอาชนะความกลัวได้ด้วยความรักและการดูแลอย่างดีจากคุณ การเพิกเฉยต่อความรู้สึกของลูกจะส่งผลเสียต่อลูกในระยะยาว
6. อย่าบังคับให้ลูกทำหรือเผชิญกับสิ่งที่ลูกกลัว : เพราะจะยิ่งทำให้ลูกกลัวมากขึ้น ลองจินตนาการว่าคุณต้องจับแมลงที่คุณกลัว หรือ ถูกบังคับให้กระโดดบันจี้จั๊มพ์ซึ่งคุณกลัวมาก คุณจะรู้สึกอย่างไร คุณควรปล่อยให้ลูกใช้เวลาในการปรับตัวและเอาชนะความกลัวนานเท่าที่ลูกต้องการ ฝึกให้ลูกมีทักษะในการช่วยเหลือตนเอง การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ จะส่งผลทำให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเอง และมั่นใจสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้น การฝึกให้ลูกเผชิญกับสิ่งที่น่ากลัวทีละน้อย ต้องค่อยเป็นค่อยไป และคอยให้กำลังใจเป็นระยะ จนกว่าลูกสามารถเชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวได้เพิ่มขึ้น
7. เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกดู : ลูกมักเลียนแบบพ่อแม่ ถ้าคุณมีอาการกลัวบางสิ่งบางอย่างและแสดงออกมาให้ลูกเห็น ลูกก็อาจแสดงอาการกลัวเช่นกัน เด็กๆมักเชื่อว่า ถ้าอะไรปลอดภัยสำหรับพ่อแม่ สิ่งนั้นก็จะปลอดภัยสำหรับเขาด้วยเช่นกัน ดังนั้นครั้งต่อไปคุณต้องอั้นเสียงร้องของคุณไว้บ้าง เวลาที่ลูกกำลังจะเจ็บตัวเล็กๆน้อยๆจากการซน แต่ให้แค่เดินเข้าไปช่วยลูกให้พ้นออกจากสถานการณ์ที่อันตราย โดยอธิบายว่าอะไรควรเล่น อะไรไม่ควรเล่นเพื่อความปลอดภัย ด้วยท่าทีที่สงบไม่ลนลาน
8. ไม่ให้ลูกดูอะไรที่น่ากลัว : เพราะว่าเด็กเล็กยังไม่สามารถแยกแยะความเป็นจริงกับเรื่องเพ้อฝัน มักกลัวปีศาจในทีวี จึงควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ดูโปรแกรมน่ากลัว และอธิบายแบบเข้าใจง่าย ให้ลูกเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างจินตนาการกับความเป็นจริง
9. เดินเป็นเพื่อนลูกไปในบริเวณที่ลูกกลัว : เปิดประตูทุกบาน มองหาใต้เตียง เปิดไฟดูให้ลูกรู้ว่า ไม่มีอะไรซ่อนอยู่ ถ้าลูกเป็นคนที่กลัวเสียงบางอย่าง หรือ กลัวเงาตะคุ่มๆ ให้พ่อแม่ช่วยลูกคิดว่า เสียงหรือเงาเหล่านั้นเกิดจากอะไรได้บ้าง ทำโดยท่าทีที่ไม่ตำหนิลูก
แสดงให้ลูกรู้ว่าคุณรักลูกมากเพียงใด และจะคอยอยู่ใกล้ๆเพื่อปกป้องลูกจากสิ่งที่เป็นอันตราย เมื่อลูกรู้สึกมั่นใจ มั่นคงทางอารมณ์ อาการกลัวก็จะลดลงในที่สุด