เด็กส่วนใหญ่มักไม่เชื่อฟังพ่อแม่เป็นครั้งคราวในระดับที่ไม่รุนแรงนัก แต่เด็กบางคนอาจมีพฤติกรรมการไม่เชื่อฟังที่รุนแรงมากจนถึงขั้นผิดปกติ
ตอนที่ลูกเกิดมา คุณต้องคอยดูแลเอาใจใส่ลูกและประคบประหงมเขา เมื่อลูกร้องคุณก็จะรีบวิ่งไปและทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกหยุดร้อง แน่นอนว่า การทำแบบนี้เป็นเรื่องเหมาะสมและจำเป็นเพราะเด็กทารกจำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่
หลังจากที่ได้รับการดูแลอย่างดีเป็นเวลาหลายเดือนจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กจะทำตัวเป็นเจ้านายในบ้าน ส่วนพ่อแม่ก็เป็นคนรับใช้ที่ต้องทำตามคำสั่ง แต่พออายุ 2 ขวบ เด็กไม่ค่อยจะยอมรับว่าตอนนี้เขาไม่ใช่ “เจ้านาย” อีกต่อไป พ่อแม่ไม่ตามใจเขา แล้ว ไม่ใช่แค่นั้นพ่อแม่ต้องการให้ลูก ทำตามที่พวกเขา บอกด้วย เรื่องนี้ทำให้เด็กงง บางคนถึงกับอาละวาด ส่วนบางคนก็อยากลองดูว่าพ่อแม่มีอำนาจจริงหรือไม่โดยการไม่เชื่อฟัง
ในช่วงนี้ พ่อแม่จำเป็นต้องรับบทบาทใหม่ นั่นก็คือผู้มีอำนาจที่จะสั่งลูกให้ทำตาม วิธีพูดให้ลูกเชื่อฟังและให้ความร่วมมือด้วยความเต็มใจ ต้องไม่ใช่การบังคับขู่เข็ญ แต่ต้องคอยให้กำลังใจลูกอยู่เสมอ การทำเช่นนี้จะเป็นวิธีที่ช่วยให้ครอบครัวมีความสุข อีกทั้งยังเป็นการบ่มเพาะการสร้างนิสัยให้ลูกเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตอีกด้วย
เทคนิค 30 วิธีง่าย ๆ ในการพูดให้ลูกทำตามดังนี้
1.ประสานสายตาก่อนการพูด ก่อนที่จะเริ่มพูดกับลูกให้ประสานสายตากับลูกก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าลูกฟังอยู่ นั่งลงอยู่ในระดับเดียวกับลูก และมองลูกด้วยสายตาแห่งความรักไม่ใช่การขู่บังคับ
2.เรียกชื่อลูก เริ่มต้นการพูดด้วยการเรียกชื่อ เช่น น้องนิชา แม่ขอให้หนู……..
3.พูดสั้น ๆ แต่ได้ใจความ อย่าพูดมากหรือบ่นมาก เพราะลูกจะจับใจความไม่ได้ และไม่รู้ว่าเราต้องการอะไร
4.ใช้คำพูดง่าย ๆ ใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่ายและได้ใจความกับลูก อย่าบ่น หรือสาธยายมากเกินไป เพราะจะทำให้ลูกไม่เข้าใจและทำหูทวนลมมากเท่านั้น
5.ทดสอบความเข้าใจ โดยให้ลูกตอบกลับมา ถ้าลูกตอบกลับไม่ได้ นั่นแสดงว่ายากและยาวเกินไป ลูกไม่เข้าใจ
6.ใช้ทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การลงโทษ เช่นแทนที่จะพูดว่า ถ้าไม่ทำนะ เดี๋ยวคุณแม่กลับมาจะตีให้ก้นลายเลย เป็น หากลูกช่วยคั้นกะทิให้แม่ ลูกจะช่วยแม่ได้เยอะเลย เดี๋ยวคุณพ่อกลับมาเราจะได้ทานข้าวกัน เป็นต้น
7.ให้ข้อเสนอที่ลูกจะปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะกับลูก 2-3 ขวบ เป็นวัยที่ลูกยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ( Egocentric) ลูกจะมีโลกของตัวเองสูง ดังนั้นการใช้ข้อเสนอที่ลูกจะทำตาม จะช่วยลดการโต้เถียงหรือการชวนทะเลาะลงได้ เช่น บอกลูกว่าแต่งตัวซะ เดี๋ยวจะได้ออกไปเล่นข้างนอก
8.พูดทางบวก เช่นอย่าตะโกนเสียงดัง เราควรพูดว่า เราไม่ตะโกนเสียงดัง เพราะจะทำให้เจ็บคอ
9.พูดอย่างมีเป้าหมาย เช่น แม่ต้องการให้หนูแบ่งให้น้องเล่นด้วย แทนที่จะเป็นแบ่งให้น้องเล่นเดี๋ยวนี้ วิธีนี้ใช้ได้กับดีกับเด็กที่ชอบเอาใจ และเด็กที่ไม่ชอบการบังคับ
10.พูดถึงเหตุและผลที่จะตามมา เช่น เมื่อลูกแปรงฟันเสร็จ แม่ก็จะเล่านิทานให้ฟัง หรือเมื่อลูกทานอาหารเสร็จแล้วเราจะออกไปทานไอศกรีมด้วยกัน
11.อย่าคิดว่าลูกดื้อ และไม่ให้ความร่วมมือ ในทางตรงกันข้าม ดูว่าการสื่อสารของเราบกพร่องตรงไหน
12.ร่วมกิจกรรมกับลูก แทนการออกคำสั่ง ว่าปิดทีวีเดี๋ยวนี้ ถึงเวลากินข้าวแล้ว เราอาจใช้วิธีเดินไปนั่งใกล้ๆลูกดูทีวีกับลูกสัก 2-3 นาทีแล้ว ระหว่างช่วงโฆษณาให้ลูกปิดทีวีเอง บอกลูกว่าถึงเวลาทานอาหารแล้ว
13.ให้ตัวเลือกที่ฉลาด เช่น จะใส่ชุดนอนก่อนหรือจะแปรงฟันก่อนดี จะใส่เสื้อสีชมพูหรือสีเขียวดี เป็นต้น