ทารกแรกเกิด (neonate) หมายถึงทารกที่มีอายุ 30 วันแรกหลังคลอด เป็นระยะที่ทารกมีการปรับตัวเพื่อให้มีชีวิตอยู่ในสภาพนอกครรภ์มารดาได้ภายหลังคลอด ในทารกแรกคลอดยังมีการเจริญเติบโต (growth) และพัฒนาการ (development) ที่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ นอกจากนี้ยังมีการปรับตัวของระบบอวัยวะอื่นๆ ได้แก่ระบบทางเดินอาหาร ระบบขับถ่าย และระบบภูมิคุ้มกัน ให้มีการพัฒนา เจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะแข็งแรงสมบูรณ์
ทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลือง จะป้อนน้ำ หรือป้อนนมน้ำแม่ ?
มีเรื่องเล่าจากสมาชิกห้องคนท้องคุยกัน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นอุทาหรณ์เตือนใจกับหลายๆ ครอบครัวที่มีลูกแรกคลอดได้เป็นอย่างดี นั่นคือเด็กที่เพิ่งคลอดได้เพียง 1 วัน แต่มีภาวะตัวเหลือง และด้วยความหวังดีจากคุณย่าและคุณพ่อของเด็กแอบป้อนน้ำให้กิน เด็กเกิดสำลักน้ำและชัก สุดท้ายช่วยไม่ทันเพราะสมองตาย (ข้อมูลส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์จริง)
จากเหตุการณ์นี้มาดูกันว่าถ้าเด็กแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลืองจะรักษาอย่างไร การรักษาทารกตัวเหลืองนั้น ต้องรักษาตามสาเหตุเป็นหลัก ร่วมกับการลดระดับบิลิรูบินลง ด้วยการส่องไฟรักษาเพื่อกำจัดบิลิรูบินออกจากร่างกาย หรือรักษาด้วยการเปลี่ยนถ่ายเลือดในกรณีที่ระดับบิลิรูบินสูงมาก ส่วนทารกตัวเหลืองจากนมแม่ ควรให้ดูดนมแม่ให้มากที่สุด ให้ถ่ายอุจจาระบ่อยที่สุด เพื่อช่วยขับสารเหลืองออกทางลำไส้ให้เร็วที่สุด ซึ่งกระบวนการรักษาไม่มีระบุว่าภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดต้องให้ดื่มน้ำ
เพราะอะไรเด็กทารกแรกเกิดแค่กินน้ำนมแม่ก็พอแล้ว
ในช่วงเด็กแรกเกิด – 6 เดือนแรกของชีวิต คุณหมอและผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการจะแนะว่าให้ลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว อย่าเพิ่งป้อนน้ำ และป้อนอาหารเด็ดขาด นั่นเพราะระบบลำไส้ ระบบการย่อยของลูกยังเคลื่อนตัวและทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ยังไม่มีแรงขับย่อยอาหารอื่นที่นอกเหนือจากน้ำนมแม่ ทีนี้หลายคนยังสงสัยว่าแค่นมแม่อย่างเดียวลูกจะได้รับสารอาหารที่เพียงพอหรือเปล่า