เด็กละเมอ เป็นเรื่องปกติหรือไม่ ต้องรักษาหรือเปล่า

เด็กละเมอ เป็นเรื่องปกติหรือไม่ ต้องรักษาหรือเปล่า

อาการละเมอ นับว่าเป็นพฤติกรรมผิดปกติในขณะนอนหลับ มักพบในระยะหลับลึก คือช่วง1-2 ชั่วโมงแรกเมื่อเริ่มหลับ และเมื่อตื่นขึ้นมาจะจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างละเมอไม่ได้ การละเมอนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มอาการ คือ

1.นอนละเมอ (night terrors)

มักพบการละเมอพูด อาจมีหรือไม่มีพฤติกรรมแสดงอาการกลัวอย่างมาก เช่น ร้องไห้ กรีดร้อง สั่น เหงื่อแตก หรืออาจลุกขึ้นนั่งแต่ไม่เดิน เวลาที่เป็นจะอยู่ที่ประมาณ 10 นาที หากถูกปลุกจะสับสน จำเหตุการณ์ไม่ได้ มักเกิดกับเด็กที่มีอายุระหว่าง 4-12 ปี โดยปกติอาการจะหายไปเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น

การละเมอในเด็กเล็กไม่พบความสัมพันธ์กับโรคทางจิตเวช แต่เนื่องจากการละเมอมีสาเหตุจากพันธุกรรม หากมีประวัติคนในครอบครัวนอนละเมอ ความชุกจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 ซึ่งแพทย์มักจะแนะนำแก่ผู้ปกครองว่า ภาวะนี้จะหายเองได้เมื่อเด็กอายุมากขึ้น แต่ถ้าเป็นบ่อยอาจกะเวลาปลุกเด็กก่อนเกิดอาการประมาณ 15-30 นาที เป็นเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะอาการละเมอจะหายไป

2.เดินละเมอ(sleep walking)

เป็นการเดินละเมอโดยไม่รู้ตัว แต่หลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ อาจเปิดประตูออกนอกบ้านได้ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ มักพบบ่อยในช่วงอายุ 8-10 ปี หากมีประวัติครอบครัวเดินละเมอความชุกจะเพิ่มเป็น 10 เท่า ปัจจัยกระตุ้นคือการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การกรนแบบหยุดหายใจ และช่วงที่มีการเจ็บป่วย

ผู้ปกครองสามารถดูแลเด็ก โดยการสร้างสุขนิสัยการนอนที่ดี ควรจัดห้องนอนให้ปลอดภัยเพื่อเด็กจะไม่สามารถเปิดประตูออกไปนอกห้องจนได้รับอันตราย อาจติดสัญญาณเตือนที่ลูกบิดประตู หากพบเด็กขณะเดินละเมอควรนำเด็กกลับไปนอนให้หลับต่อโดยไม่ปลุกให้ตื่น

ละเมออย่างไรถึงควรไปพบแพทย์

-เด็กมีอาการง่วงในระหว่างวันมาก และบ่อยครั้ง
-เด็กมีอาการขาดสมาธิ ซนในเวลากลางวัน
-อาการรุนแรงเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายหรือได้รับบาดเจ็บ เช่น กระโดดจากที่สูง
-มีความเสี่ยงจากภาวะกรนและอาจหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย เช่น กรนดังทุกคืน มีภาวะอ้วน

สร้างสุขนิสัยการนอนที่ดี...ช่วยได้

-เข้านอนในเวลาเดิมทุกๆ คืน

-กิจกรรมก่อนนอนควรสร้างความผ่อนคลาย เช่น เล่านิทาน อาบน้ำแล้วเข้านอนเลย หรือฝึกนั่งสมาธิ นวดสัมผัส

-งดกิจกรรมที่ตื่นเต้นน่ากลัวก่อนนอน เช่น เล่นต่อสู้ ออกแรงเยอะๆ ดูหนัง เล่าเรื่อง หรืออ่านหนังสือที่น่ากลัว

-หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นก่อนนอน ไม่ว่าจะเป็นสื่อหน้าจอ เครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน ช็อกโกแลต ชา โคล่า

-ควรใช้ห้องนอนสำหรับนอนหลับพักผ่อนเท่านั้น งดกิจกรรมอื่นๆ ในห้องนอน เช่น ดูทีวี ทำงาน ทำการบ้าน เล่น ใช้เป็นที่ทำโทษ time-out

-สร้างบรรยากาศในห้องนอนให้เหมาะแก่การพักผ่อน เช่น ไม่มีแสงสว่างรบกวน งดเสียงรบกวน อุณหภูมิเหมาะสมพอสบาย

-สร้างความปลอดภัยในห้องนอน เช่น ไม่มีวัตถุแหลมคม ล็อกประตูและหน้าต่างให้เรียบร้อยติด-สัญญาณเตือนหรือกระดิ่งที่ประตูและหน้าต่าง เก็บของให้เข้าที่ เป็นระเบียบ ไม่เกะกะ ในห้องนอนไม่ควรมีของหรือเฟอร์นิเจอร์เยอะเกินความจำเป็น

-ไม่ให้เด็กที่นอนละเมอนอนชั้นบนของเตียง 2 ชั้น

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์