วิธีแก้ปัญหาลูกเอาแต่ใจ ชอบกรี๊ดๆ ลงไปดิ้นกับพื้น

วิธีแก้ปัญหาลูกเอาแต่ใจ ชอบกรี๊ดๆ ลงไปดิ้นกับพื้น


ลูกร้องเอาแต่ใจทําไงดี

     ลูกร้องเอาแต่ใจทําไงดี สำหรับปัญหาลูกเอาแต่ใจไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในแต่ละช่วงวัย เริ่มตั้งแต่ช่วง 1-3 ปีแรกของชีวิตเลยทีเดียว การดูแลปัญหานี้ในแต่ละช่วงวัยอาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง หมอขอแบ่งปัน แนวทางในการดูแลปัญหานี้ เป็น 2 ช่วงวัย คือ ช่วงวัยเด็กเล็ก (วัยเตาะแตะและอนุบาล) และเด็กโต มากกว่า 6-7 ขวบ (วัยประถม) ดังนี้ค่ะ

--วิธีแก้ปัญหาลูกเอาแต่ใจ แต่ละช่วงวัย

ช่วงวัยเด็กเล็ก ลูกเอาแต่ใจ 1 ขวบ - 3 ขวบ

ช่วงวัยเด็กเล็กโดยเฉพาะช่วงวัยเตาะแตะอายุ 1-3 ปีเป็นช่วงที่เด็กทุกคนจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งจัดว่าเป็นภาวะปกติทางพัฒนาการตามวัย ร่วมกับช่วงนี้เด็กจะยังไม่มีพัฒนาการด้านภาษาที่ดีพอจะสื่อสารให้ผู้ใหญ่เข้าใจได้ชัดเจน รวมทั้งการควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ ก็ยังไม่ดี จึงทำให้แสดงพฤติกรรมร้องอาละวาดเอาแต่ใจได้บ่อย ๆ ทั้งนี้หากผู้ใหญ่ได้สั่งสอนและช่วยจัดการแก้ไขปัญหานี้ก็อาจจะดีขึ้นแต่หากปล่อยไปและยิ่งตามใจปัญหาก็อาจจะแย่ลงจนบางคนมีปัญหาเอาแต่ใจจนถึงวัยเด็กโตหรือผู้ใหญ่ได้ค่ะ

ดังนั้นก่อนที่จะจัดการแก้ไขพฤติกรรมของลูกคุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มจาก ความเข้าใจดังนี้

ทำความเข้าใจ ทำไมลูกเล็กชอบร้องเอาแต่ใจ
1.การเอาแต่ใจตัวเองเป็นหนึ่งในพัฒนาการปกติช่วงวัยนี้ของลูก ในการแก้ไขและปรับปรุงพฤติกรรมเราต้องใจเย็นๆนะคะ

2.ความรักและความผูกพันเป็นสิ่งสำคัญมากในการอบรมสั่งสอนและปรับปรุงพฤติกรรมของลูก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรจะได้ใช้ "เวลาที่มีคุณภาพ" ร่วมกับลูกเยอะๆ โดยเป็นช่วงเวลาที่ได้มีเวลาอยู่ร่วมกับลูก ทำกิจกรรมต่างๆที่มีความสุข และมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างรากฐานของความรักความผูกพันให้แข็งแรงค่ะ

3.ในช่วงวัยนี้ควรฝึกให้ลูกได้รู้จักเป็นตัวของตนเองโดยการได้ตัดสินใจเรื่องต่างๆในชีวิตประจำวันด้วยตนเอง เช่น การเลือกหนังสือนิทานที่อ่าน การเลือกเสื้อผ้า เป็นต้น และในขณะเดียวกันก็ควรฝึกให้เด็กคิดถึงจิตใจและความรู้สึกของผู้อื่น โดยการฝึกให้รู้จักการอดทนรอคอยเช่น ต่อคิวซื้อของ ต่อคิวเข้าห้องน้ำด้วยตนเอง เป็นต้นค่ะ

การแก้ปัญหาลูกร้องเอาแต่ใจ
หากลูกเกิดพฤติกรรมที่เอาแต่ใจขึ้นมาแล้วเราอาจใช้เทคนิคในการจัดการได้ดังนี้

*การเบี่ยงเบนความสนใจ :
ในเด็กเล็กโดยเฉพาะช่วงวัย 1-2 ขวบที่ทักษะการสื่อสารยังไม่ดีและยังไม่เข้าใจภาษาพูดได้ดีสักเท่าไร คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้วิธีลดพฤติกรรมเอาแต่ใจได้โดยการเบี่ยงเบนความสนใจให้ลูกไปทำกิจกรรมอื่นหรือสิ่งอื่นที่เหมาะสมแทน เด็กเล็กก็อาจจะลืมสิ่งที่เรียกร้องเอาแต่ใจไปได้อย่างรวดเร็ว

*การเพิกเฉย :
คุณพ่อคุณแม่ควรจะเพิกเฉย ไม่ตอบสนองความต้องการทั้งในแง่บวกและแง่ลบกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูก โดยบอกให้ลูกเข้าใจว่า "การอาละวาดเอาแต่ใจนั้นจะทำให้ไม่ได้ในสิ่งที่ลูกต้องการอย่างแน่นอน" *** ทั้งนี้ต้องระวังการทำสิ่งที่ตรงข้ามกันนะคะ เช่น บางบ้านเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ปกติดีก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่เมื่อลูกโวยวายและร้องอาละวาดก็รีบสนใจและให้ในสิ่งที่ต้องการ หากเป็นเช่นนั้นจะยิ่งทำให้ลูกเรียนรู้ว่าการเอาแต่ใจอาละวาดจะทำให้ได้ในสิ่งที่ต้องการและก็จะทำพฤติกรรมแบบนั้นบ่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่งค่ะ

*การชมเชย :
หากลูกมีพฤติกรรมที่ดี ไม่เอาแต่ใจ คุณพ่อคุณแม่ควรจะชมเชยลูก และให้รางวัลซึ่งเป็นการแสดงความรักต่อลูก เช่น การกอด หอมลูก โดยไม่จำเป็นต้องให้รางวัลเป็นสิ่งของ

วิธีแก้ปัญหาลูกเอาแต่ใจ ชอบกรี๊ดๆ ลงไปดิ้นกับพื้น

เด็กประถมเอาแต่ใจ ทำไงดี

---ช่วงวัยเด็กโต ลูกเอาแต่ใจ 6 ขวบขึ้นไปในวัยประถม
โดยปกติแล้วในช่วงที่เด็กอายุก่อน 6-7 ปี ปีมักจะมีความคิดที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ค่อยใส่ใจในความรู้สึกของผู้อื่น โดยเฉพาะในเด็กที่มีพื้นฐานอารมณ์แบบปรับตัวยาก และแบบเลี้ยงยาก ก็มักจะแสดงพฤติกรรมเอาแต่ใจ เอะอะโวยวายอาละวาดได้ง่ายกว่าเด็กที่มีพื้นฐานทางอารมณ์แบบเลี้ยงง่าย ดังนั้นพฤติกรรมลักษณะนี้จึงมีความเกี่ยวข้องกับพื้นฐานทางอารมณ์ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กเองด้วยค่ะ

ในเด็กบางคนที่อยู่ในช่วงวัยประถมอายุมากกว่า 6 ปีแล้ว ก็ยังมีพฤติกรรมเอาแต่ใจโวยวายอาละวาดอยู่บ่อยครั้ง อาจเกี่ยวข้องกับพื้นฐานการเลี้ยงดูที่ตามใจเด็ก เมื่อเด็กมีพฤติกรรมโวยวายก็จะได้ในสิ่งที่ต้องการ หรือการเลียนแบบพฤติกรรมการเอาแต่ใจใช้อารมณ์ของผู้ใหญ่ซึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิดกับเด็ก ทำให้เด็กซึมซับพฤติกรรมและอารมณ์ที่รุนแรงมาโดยไม่รู้ตัว

ในบางครอบครัวคุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่ได้เลี้ยงดูและใช้เวลาอยู่กับลูกตั้งแต่เล็ก โดยให้ผู้อาวุโส เช่น คุณย่า คุณยายเลี้ยงดูเด็ก ก็มักจะพบว่าเมื่อลูกโตขึ้นและได้เปลี่ยนมาอยู่ใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่ก็จะมีปัญหาลูกเอาแต่ใจและไม่เชื่อฟังได้มาก จนไม่รู้จะรับมืออย่างไร ในกรณีเช่นนี้วิธีการแก้ปัญหาอันดับแรกก็คือคุณพ่อคุณแม่ต้องหาทางให้เวลาที่มีคุณภาพทำกิจกรรมต่างๆ และมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับลูก พูดคุยกับลูกให้มากที่สุด เพื่อให้เข้าใจเขา และสร้างพื้นฐานความรักความผูกพันเช่นเดียวกับในวัยเด็กเล็ก ก่อนที่จะเริ่มปรับพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมลูก ซึ่งในวัยนี้เด็กจะมีความเข้าใจทางด้านภาษาดีแล้วการอบรมจึงใช้วิธีที่ต่างจากเด็กเล็ก

วิธีการจัดการกับพฤติกรรมเอาแต่ใจของลูกในวัยเด็กโตทำได้โดย

1.ไม่ตามใจ : ไม่ตามใจลูกในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ให้ลูกได้เรียนรู้ว่าหากแสดงพฤติกรรมเอาแต่ใจแบบโวยวายอาละวาดก็จะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ และอธิบายเหตุผลว่าเพราะเหตุใดถึงไม่ตามใจในสิ่งเหล่านั้น

2.รอให้ลูกสงบอารมณ์ลงด้วยตนเอง : ไม่ดุหรืออบรมสั่งสอนในช่วงที่เขากำลังอารมณ์ฉุนเฉียวแสดงพฤติกรรมเอาแต่ใจ โวยวายอยู่

3.คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้อารมณ์ตอบโต้ใส่ลูกอย่างเด็ดขาด : เพราะเด็กจะซึมซับพฤติกรรมและอารมณ์ดังกล่าวไปได้

4.สอนวิธีการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสมกับลูก : ต้องสั่งสอนให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง เช่น นับ 1-10 หรือ ไปอยู่เงียบๆ สงบนิ่งสักพักก่อน

5.หาสาเหตุว่าลูกมีพฤติกรรมที่เอาแต่ใจเพราะเหตุใด : เช่น เนื่องจากการตามใจที่มากเกิน หรือเพียงต้องการเรียกร้องความสนใจ เพื่อจะได้วางแผนแก้ไขปัญหานั้นในระยะยาวต่อไป

หากลูกเอาแต่ใจเพราะการตามใจที่มากเกินไปก็ต้องย้ำกับสมาชิกทุกคนในครอบครัวว่าไม่ควรตามใจลูกและต้องทำให้ไปแนวทางเดียวกัน ไม่ใช่ผู้ใหญ่บางคนไม่ตามใจในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่บางคนตามใจทุกอย่าง มิฉะนั้นการอบรมก็จะไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม หากลูกมีพฤติกรรมเอาแต่ใจเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ ก็ควรให้เวลาลูก พูดคุยและมีเวลาที่มีคุณภาพกับลูกให้มากขึ้นค่ะ

ทั้งนี้ หากลูกมีพฤติกรรมเอาแต่ใจที่มากเกินกว่าปกติ หรือมีพฤติกรรมร่วมคือ มีความก้าวร้าวรุนแรงผิดปกติ ทำร้ายตัวเองทำร้ายผู้อื่น หรือทำลายข้าวของให้เสียหาย ก็สามารถปรึกษาคุณหมอเด็ก คุณหมอเฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก หรือจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อให้คุณหมอช่วยประเมินอาการและหาสาเหตุรวมถึงแนะนำแนวทางการแก้ไขร่วมกันกับคุณพ่อคุณแม่และครอบครัว ก่อนที่พฤติกรรมดังกล่าวจะรุนแรงมากขึ้นได้นะคะ

วิธีแก้ปัญหาลูกเอาแต่ใจ ชอบกรี๊ดๆ ลงไปดิ้นกับพื้น

เครดิตแหล่งข้อมูล : th.theasianparent.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์