มื้อสำคัญ “อาหารกลางวัน” มีผลต่อความสูงของเด็ก
ข้อมูลจาก พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวถึงคุณภาพอาหารกลางวันและโภชนาการเด็กวัยเรียนว่า จากการสำรวจภาวะโภชนาการในเด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี พบว่า มีทั้งภาวะขาดและเกิน โดยในส่วนที่ขาดหรือผอมเกิน จะมีทั้งผอมชนิดขาดอาหารแบบฉับพลัน และผอมจากขาดอาหารเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจะกระทบกับความสูงของเด็ก ทำให้กลายเป็นเตี้ย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้ถือว่าดีขึ้น แต่ยังพบอยู่ ส่วนมากพบในเด็กชนบทมากกว่าเด็กเมือง ขณะที่ปัญหาน้ำหนักเกินหรือภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนพบว่า เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2546 พบร้อยละ 5 ปี 2551 พบร้อยละ 9.7 และล่าสุดที่สำรวจ คือ ปี 2557 พบร้อยละ 13.9 มักพบในเด็กเมืองมากกว่า
หลายคนเข้าใจว่ารูปร่างสูงหรือเตี้ยเป็นเรื่องกรรมพันธุ์ล้วนๆ แต่ที่จริงไม่ใช่ ถ้าได้รับอาหารดี เพียงพอก็ทำให้ร่างกายสูงใหญ่ได้ นอกจากนี้ ความสูงมีความสัมพันธ์กับไอคิวหรือความฉลาดทางสติปัญญาที่เพิ่มขึ้นด้วย ถ้าสูงก็ไอคิวดี ส่วนความอ้วนนั้นไม่มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนเรื่องไอคิวแต่เด็กที่อ้วนพบว่าจะมีปัญหาเรื่องการนอนหลับไม่สนิทตอนกลางคืน แล้วมาง่วงตอนกลางวัน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพของการเรียน ฉะนั้นเรื่องอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ
ที่มา healthandtrend