เลี้ยงลูกยุคใหม่ ลดความเป็นแม่เพิ่มความเป็นเพื่อนจริงหรือ?

 เลี้ยงลูกยุคใหม่ ลดความเป็นแม่เพิ่มความเป็นเพื่อนจริงหรือ?

บนความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย นิยามของความเป็นแม่ได้ถูกบัญญัติใหม่ด้วยเงื่อนไขความเป็นจริงมากขึ้น และยังเปิดกว้างขึ้นตามมุมมองที่หลากหลายจากเดิม ความเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่วิถีของความศรัทธา พิธีกรรม หรือกุศโลบายต่าง ๆ จึงทำให้ผู้หญิงยุคนี้ มีวิธีปฏิบัติต่อตัวเองในฐานะแม่ ต่างจากยุคคุณแม่ คุณยาย คุณทวดของเธอไปมาก

จะเห็นได้จากผลการวิจัย Thai Millennial Moms Survey การวิจัยทัศนคติและพฤติกรรมเรื่องการเลี้ยงลูกจากแม่ทั่วประเทศจำนวนกว่า 2,000 คน ที่มีอายุอยู่ในช่วง 21 – 35 ปี
ชี้ให้เห็นว่าขุ่นแม่ ๆ ยุค 4.0 จำนวน 77% มีแนวทางการเลี้ยงลูกแบบไม่ควบคุมเข้มงวดจนลูกรู้สึกอึดอัด และไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าถูกจับผิด นอกจากนั้น 65% ยังให้อิสระในการใช้ชีวิตตามความเหมาะสมของวัย เปิดโอกาสให้ลูกสามารถตัดสินใจด้วยตนเอง

คุณแม่ในยุคนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นแม่สายชิลล์ สายกันเอง สายเพื่อน ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรสำหรับความเป็นแม่มาก จะแอดเฟรนคอมเม้นต์กับลูกอย่างสนุกสนานใน Facebook ก็ยังได้ เฮฮาไปไหนไปกันได้ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้ลูกรู้สึกกับตนว่าเป็นเหมือนเพื่อน ที่เปิดโอกาสให้เขาได้ทำในสิ่งที่ต้องการ เพื่อนที่สามารถแชร์เรื่องราวต่าง ๆ ให้กันและกันโดยไม่มีปิดบัง การเลี้ยงลูกสไตล์ “มีแม่เป็นเพื่อน” จึงได้รับความนิยมอย่างมากในคุณแม่ยุคนี้

 เลี้ยงลูกยุคใหม่ ลดความเป็นแม่เพิ่มความเป็นเพื่อนจริงหรือ?

เป็นเพื่อนเล่นให้ลูกเล็ก และเป็นผู้คุมเกมในเวลาเดียวกัน
 
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ผู้เข้าใจธรรมชาติของเด็กและความรักของคนในครอบครัว ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า เมื่อคุณมีลูกเด็กเล็ก แน่นอนว่าเขาต้องการให้เราเป็นเพื่อนเล่น ไม่ว่าจะระบายสี ดินน้ำมัน ต่อเลโก้ เล่นขายของ เล่นในสนามเด็กเล่น เราควรสละเวลามาร่วมกิจกรรมกับลูกด้วย เพื่อเพิ่มความใกล้ชิด และเป็นการได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างการเล่นนั้นเอง นอกจากจะเป็นเพื่อนเล่นแล้ว เราต้องเป็นผู้คุมเกม คุมวินัย ในเวลาเดียวกัน เช่น เล่นแล้วเก็บของเล่น ล้างมือให้สะอาดหลังเล่น กำหนดเวลาเล่น ทำการบ้านเสร็จแล้วสามารถเล่นได้ กำหนดรางวัลและบทลงโทษในการกติกาการเล่น 

จะเห็นได้ว่าบทบาทของเราในตอนนี้ไม่ใช่เพื่อน แต่เราเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าเขา การเลี้ยงลูกในลักษณะนี้จะทำให้เราได้ให้ความเป็นเพื่อนให้ลูกมากขึ้น แต่ไม่เกินเลยจนกลายไปเป็นเพื่อนกับลูก

แม่ควรมี “ความเป็นเพื่อน” แต่ต้อง “ไม่ใช่เพื่อน
 
มันก็ดูสนุกดีที่ได้เป็นเพื่อนกับลูก แต่ขอเบรกคุณแม่ไว้ตรงนี้ก่อนว่า แม้มันอาจจะสนุก และผลที่ได้คือความใกล้ชิด แต่ผลที่พ่วงมาด้วยนั้น ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา ประธานโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า การเลี้ยงลูกแบบเป็นเพื่อนจะส่งผลให้ ความเคารพที่มีต่อแม่น้อยลง กล้าโต้เถียงมากขึ้นและความรู้สึกถึงความเป็นแม่นั้นจะลดลง

การวางตัวให้ถูกสำหรับคนเป็นแม่นั้นจึงสำคัญมาก แน่นอนว่าแม่สามารถเพิ่ม “ความเป็นเพื่อน”  ที่ลูกจะรู้สึกอยากใกล้ชิด สนิทสนม คุยกันได้ เฮฮาได้ เป็นที่ปรึกษาทำให้เขารู้สึกว่าแม่คือคนที่เข้าใจเขา แต่แม่ต้อง “ไม่ใช่เพื่อน”

คำว่า “เพื่อน” ต้องไม่มีอำนาจระหว่างกัน แต่ “แม่” นั้นไม่ใช่ แม่ยังคงต้องเป็นแม่ ที่ไม่วางตัวเสมอกับลูกจนเกินไป เพราะนั่นจะทำให้ปกครองลูกยาก ไม่ทำตามกติกา ไม่มีความเกรงใจในตัวแม่ คุณคงไม่อยากอยู่ในสถานะนี้ และคงไม่อยากให้เจ้าตัวน้อยของคุณเป็นแบบนี้แน่ ๆ 

หากถามว่าการให้ “ความเป็นเพื่อน” แบบไหนที่จะไม่เกินเลยจนกลายเป็นเพื่อนของลูก รูปแบบการปฏิบัติต่อลูกในการให้ความเป็นเพื่อนนั้นจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุลูกในแต่ละวัย ดังนี้

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น แม่ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นเมนเทอร์
 
รู้อยู่แล้ววัยนี้มันฮอร์โมนวัยว้าวุ่นสุด ๆ วัยรุ่นนั้นไม่ต้องการให้แม่มาจู้จี้ ออกคำสั่ง เพราะไม่ว่ายุคไหนวัยรุ่นก็ยังต้องการความเป็นตัวของตัวเอง และเวลาที่แม่ใส่ใจมากเกินไป เขาจะคิดว่าตัวเองจะกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง

คุณแม่ ๆ จึงควรลดอำนาจของตัวเองลงมา เลี้ยงลูกด้วยการแนะนำ พูดคุยกับเขาโดยเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดเห็น ฝึกเป็นผู้ฟังที่ดีมากขึ้น เมื่อลูกเลือกคุยหรือปรึกษากับเรา เป็นโอกาสดีมาก ๆ ที่จะสร้างความใกล้ชิด เปิดโอกาสในการสร้างความไว้ใจกับเขาดังนั้น ควร วางทุกอย่างลงแล้วตั้งใจฟัง ฟังจนเข้าใจเรื่องที่เขาอยากเล่าอย่างจริงจังและจริงใจ ไม่แสร้งว่าเข้าใจ เพราะความจริงใจจากเราลูกจะสัมผัสได้อย่างแน่นอน

 เลี้ยงลูกยุคใหม่ ลดความเป็นแม่เพิ่มความเป็นเพื่อนจริงหรือ?

และแม้ว่าบางเรื่องเรารู้สึกว่าเขาพูดไม่มีเหตุผลมากพอ คุณแม่เมนเทอร์ทั้งหลายอย่าเพิ่งไปขัดคอในทันที ลองฟังต่อไป เพราะเขาต้องการผู้รับฟัง ที่จะคอยเป็นคนที่อยู่ข้าง ๆ เขาในทุก ๆ ปัญหา เมื่อฟังจบคุณแม่เมนเทอร์สามารถแสดงความคิดเห็นหรือเสริมด้วยการแนะนำวิธีแก้ปัญหาได้ แม้สุดท้ายความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ อาจไม่ตรงกัน เราไม่ต้องพยายามเป็นฝ่ายถูก เพียงแค่เพิ่มตัวเลือกในการแก้ปัญหาให้เขาก็พอ และท้ายที่สุดเขาก็จะคิดและหาข้อสรุปในเรื่องนั้นได้เอง

มิติของ “ความเป็นเพื่อน” กับลูกวัยนี้จึงจะอยู่ตรงที่เราเปิดโอกาสให้เขาได้พูดคุยแลกเปลี่ยนแบบเปิดกว้างนั่นเอง

แม่ที่มี “ความเป็นเพื่อน” แต่ “ไม่ใช่เพื่อน” คือแม่ที่จะช่วยลูกได้ดีที่สุด

เพราะลูก ไม่ได้ต้องการเพียงแค่คนที่เข้าใจ แต่เขายังต้องการคนที่ช่วยบอกเขาได้ ว่าอะไรที่ใช่ และ ไม่ใช่ ในการใช้ชีวิต

จำไว้ Stop trying to be your child’s friend. Our job is to be their Mom

ที่มา healthyliving

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์