Time out ไม่ใช่การทำโทษ แต่เป็นการปรับพฤติกรรม
เมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่ห้ามแล้ว เบี่ยงเบนความสนใจแล้ว ก็ยังทำอยู่ ก็อาจใช้การ time out คือ แยกเด็กออกจากสถานการณ์นั้นๆ ไปสงบสติอารมณ์ เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักจัดการอารมณ์ของตัวเอง เมื่อเด็กสามารถจัดการอารมณ์ให้สงบลงได้ก่อนเวลาที่กำหนด ก็ควรจะออกจากการ time out และกล่าวชมลูกที่จัดการอารมณ์ตัวเองได้ด้วย
ด้าน ผศ. (พิเศษ) แพทย์หญิง ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ระบุว่า การ time out จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อพ่อแม่มีการ time-in กับลูกอย่างสม่ำเสมอ คือการใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกอย่างมีคุณภาพ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก ให้แรงเสริมทางบวก กล่าวชมเมื่อลูกทำดี การเอาแต่ตำหนิและสั่งให้ลูกไป time out ลูกก็ยิ่งทำแต่พฤติกรรมที่ไม่ดี เพราะทำแล้วพ่อแม่สนใจ