1. อย่าคิดว่าลูกผิด
เรามักโยงพฤติกรรมของเด็กเข้ากับตัวของเขา เช่น ถ้าเด็กไม่เรียนหนังสือ เราก็จะเรียกเขาว่าขี้เกียจ การเหมาว่าเด็กเป็นคนไม่ดีโดยตัดสินจากพฤติกรรมที่ไม่ดีบางอย่างจะยิ่งทำให้เด็กเชื่อว่าเขาเป็นคนเช่นนั้นจริง ๆ พ่อแม่ที่ดีจะเชื่อมั่นว่าลูกเป็นคนดี มีเจตนาดี ไม่ได้มีสิ่งใดผิดปกติ และเข้าใจว่าพฤติกรรมดื้อรั้นเกเรเป็นเพียงสิ่งที่สะท้อนออกมาจากความพยายามที่จะให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ เราจำเป็นต้องยอมรับในตัวเด็กและค่อย ๆ ให้โอกาสเขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
2. เข้าใจมุมมองที่แตกต่างของลูก
คุณต้องเข้าใจว่าเด็กมองโลกต่างจากผู้ใหญ่ พวกเขาพูดคนละภาษากับเรา คุณอาจจะคิดว่าคุณกำลังให้คำแนะนำแต่เด็กอาจจะเห็นว่าคุณกำลังบ่น การแสดงความเป็นห่วงในแบบของคุณอาจจะเป็นการบังคับในสายตาของพวกเขาก็เป็นได้
3. เคารพในความคิดของลูก
ก่อนที่จะเราจะสามารถโน้มน้าวให้ใครสักคนเปลี่ยนทัศนคติและยอมรับคำแนะนำได้ เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับมุมมองของเขาเสียก่อน เด็กส่วนใหญ่มักเก็บเรื่องหลาย ๆ เรื่องไว้ในใจ ไม่บอกพ่อแม่ และบางครั้งก็แสดงท่าทีต่อต้านคำแนะนำและความคิดของพ่อแม่อย่างชัดเจน ถ้าคุณอยากให้ลูกพูดคุยอย่างเปิดเผย และฟังคุณ คุณต้องสร้างความเชื่อใจเสียก่อน พยายามใช้ประโยคเช่น "แม่เห็นด้วยว่า....." "พ่อเข้าใจว่า....." เมื่อคุยกับลูก เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าคุณฟังเขา
4. ปรับเปลี่ยนท่าทีและมุมมองของลูกอย่างมีชั้นเชิง
การปรับเปลี่ยนท่าทีและมุมมองของคนโดยไม่ใช้การบีบบังคับถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เมื่อคุณได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับลูกและทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณเข้าใจเขาแล้ว ลูกจะเริ่มยอมรับสิ่งที่คุณชี้แนะมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น ลูกคุณอาจจะบอกว่า "เรียนไปก็เสียเวลาเปล่า!" คุณอาจจะตอบว่า "ใช่ แม่ก็ว่าเรียนไปก็เสียเวลาเปล่า ถ้าไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำอะไร และอยากเป็นคนไม่เอาไหนให้คนอื่นดูถูก"
5. เริ่มจากตัวคุณ
พ่อแม่หลายคนคิดว่าลูกต้องเป็นฝ่ายเปลี่ยนเพียงฝ่ายเดียว แม้ว่าลูกจะยอมเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่เขาจะกลับมาทำตัวเหมือนเดิม นั่นเป็นเพราะพ่อแม่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนตัวเองตามนั่นเอง พ่อแม่ที่ดีควรเชื่อว่าตัวเองมีบทบาทสำคัญในการวางกรอบความคิดและพฤติกรรมของลูก พ่อแม่เป็นคนรับผิดชอบต่อการกระทำและทัศนคติที่ไม่ดีของลูก เปลี่ยนมุมมองของคุณ รับฟัง และให้กำลังใจในสิ่งที่ลูกทำได้ดีและถูกต้องเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี เมื่อลูกรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เขาจะรู้จักรับผิดชอบในการกระทำของตัวเองมากขึ้น