การมองเห็นของทารกแรกเกิด
ทารกตัวน้อยเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการแยะแยกความแตกต่างระหว่างความสว่างกับความมืดได้ ตาดำของทารกจะหดตัวโดยอัตโนมัติ ทันทีที่มีแสงสว่างส่องเข้าไปในดวงตา แต่ในช่วงแรกการมองภาพของทารกยังเป็นแบบภาพเบลอๆ ซึ่งระยะที่ทารกสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือระยะห่าง 20-30 เซนติเมตรจากปลายจมูกของเขา ซึ่งระยะนี้ก็คือ ระยะห่างระหว่างใบหน้าของคุณแม่กับลูกน้อยขณะให้นมนั่นเอง
การมองเห็นแสงสีของดวงตาทารกจะทำงานเต็มที่ในช่วงอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป โดยจะเริ่มจากการมองเห็นวัตถุที่มีสีตัดกันอย่างชัดเจน เช่น ขาว-ดำ / ขาว-แดง / น้ำเงิน-เหลือง / แดง-เขียว รวมทั้งการมองเห็นแม่สีทั้งสาม ซึ่งได้แก่ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงินด้วย
หลัง 3 เดือนไปแล้ว ทารกจึงจะสามารถปรับโฟกัสของเลนส์ตาได้ดีเท่าๆ กับผู้ใหญ่
หลัง 4 เดือนไปแล้ว ทารกจะพัฒนาทักษะในการเคลื่อนไหวสายตาเพื่อจับภาพวัตถุ หรือค้นหาตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งจากภาพกว้าง ๆ ได้
ทารกอาจพยายามเพ่งมองวัตถุจนคุณแม่สังเกตเห็นว่าตาดำของลูกเคลื่อนเข้าหากัน จนดูเหมือนตาเหล่ แต่จริง ๆ แล้ว อาการเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าลูกน้อยตาเหล่นะคะ เมื่อลูกน้อยอายุ 7-9 เดือนค่อยสังเกตอาการตาเหล่ค่ะ
ของเล่นสีสดใส ส่งเสริมทักษะการมองเห็นของทารกได้อย่างไร
ในช่วง 0-2 เดือน ใบหน้าของแม่ คือสิ่งที่ทารกชอบมองมากที่สุด เพราะมีการเคลื่อนไหวไปมาอยู่ตลอด ในวัยนี้ ทารกยังเล่นไม่เป็น แต่สามารถตอบสนองต่อเสียงและหันศีรษะหาเสียงได้แล้ว คุณแม่ควรพูดคุย หรือร้องเพลงเห่กล่อม เป็นการกระตุ้นการรับรู้ เสียงและประสาทสัมผัสให้กับลูกน้อยค่ะ
เมื่อลูกน้อยอายุได้ 2 เดือนขึ้นไป นอกจากใบหน้าของแม่แล้ว ทารกจะชอบจับตาดูสิ่งของที่เคลื่อนไหว คุณแม่จึงควรหาของเล่นสีสดใส มาแขวนให้ลูกฝึกการมอง ซึ่งเด็กจะสนใจเป็นพิเศษเพราะสะดุดตากว่าค่ะ โดยทารกจะเริ่มมองเห็นวัตถุที่มีสีตัดกันอย่างชัดเจน เช่น ขาว-ดำ / ขาว-แดง / น้ำเงิน-เหลือง / แดง-เขียว รวมทั้ง สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน