ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด


ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดสามารถพบได้ในทารกทุกเชื้อชาติ สิ่งที่ทำให้ทารกดูตัวเหลืองนั้นเกิดจากสารที่เรียกว่า "บิลิรูบิน" ภายในร่างกาย ปกติแล้วบิลิรูบินจะถูกสร้างขึ้นในกระแสเลือดและกำจัดออกจากร่างกายโดยตับ ซึ่งเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ

ขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์นั้น บิลิรูบินจะถูกกำจัดผ่านทางรกไปยังตับของมารดา เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว ตับของทารกต้องทำหน้าที่กำจัดบิลิรูบินด้วยตัวเอง

แต่เนื่องจากตับของทารกแรกเกิดยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ในช่วง 2-3 วันแรก ดังนั้นทารกโดยทั่วไปจึงมีภาวะตัวเหลืองที่สังเกตได้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว อาการตัวเหลืองจะเริ่มจากบริเวณใบหน้า แล้วกระจายไปยังส่วนอก ท้อง แขนและขา ตามระดับของบิลิรูบิน ทารกบางรายอาจสังเกตพบบริเวณตาขาวว่ามีสีเหลืองกว่าปกติ

สาเหตุของภาวะตัวเหลือง

ภาวะตัวเหลืองเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่

1.ภาวะตัวเหลืองปกติ (Physiologic Jaundice)

เกิดจากทารกที่อยู่ในครรภ์มารดามีความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงมากกว่า และเม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าของผู้ใหญ่ เมื่อเม็ดเลือดแดงของทารกแตกสลายและเปลี่ยนแปลงไปเป็นบิลิรูบินมากกว่าปกติจนเกินความสามารถในการกำจัดของร่างกาย เนื่องจากตับของทารกยังทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้การกำจัดบิลิรูบินด้วยตับยังไม่สมบูรณ์ เกิดการสะสมของสารบิลิรูบินขึ้นในร่างกาย หากทารกไม่มีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย สามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์

2.ภาวะตัวเหลืองผิดปกติเนื่องจากมีพยาธิสภาพ (Pathologic Jaundice)

เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะหมู่เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน พบในคู่ที่แม่มีหมู่เลือดโอกับลูกมีหมู่เลือดเอหรือบี หรือคู่ที่แม่มีหมู่เลือด Rh ลบ และลูกมี Rh บวก ทารกที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง หรือภาวะเม็ดเลือดแดงขาดเอ็มไซม์ G6PD ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ ทารกมีเม็ดเลือดแดงจำนวนมากกว่าปกติ โดยเฉพาะทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นเบาหวาน

กรณีตัวเหลืองที่สัมพันธ์กับการกินนมแม่ มักพบในทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียว

ส่วนใหญ่เกิดกับทารกที่ได้รับนมไม่เพียงพอ สาเหตุที่พบบ่อยคือ ท่าอุ้มให้ลูกดูดนมแม่ไม่ถูกต้อง หรือเกิดจากปัจจัยของตัวลูกเอง เช่น ลูกเกิดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อย หรือมีภาวะลิ้นติดทำให้ดูดนมแม่ได้ไม่ดี

สาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะตับอักเสบ โรคท่อน้ำดีตีบ ซึ่งทารกจะมีอาการตัวเหลืองร่วมกับอุจจาระสีซีด ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น

ความรุนแรงจากภาวะตัวเหลือง

ถ้าระดับบิลิรูบินมากเกินไปจะผ่านเข้าสู่สมองไปจับที่เนื้อสมอง ทำให้สมองผิดปกติเรียกว่า เคอร์นิกเทอรัส (Kernicterus) ระยะแรกจะมีอาการซึม ตัวอ่อน และดูดนมไม่ดี ระยะต่อมาทารกจะซึมลง ตัวอ่อนมากขึ้น มีอาการกระสับกระส่าย ไข้ ร่องเสียงแหลม ตัวเกร็ง คอแอ่นไปด้านหลัง หลังแอ่น

เมื่อมีอาการในระยะแรกๆ หากทารกได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือดโดยเร็วที่สุด อาจทําให้สมองไม่ถูกทําลายโดยถาวร ลดความรุนแรงของความพิการทางสมอง แต่หากไม่ได้รับการรักษาก็จะมีอาการจะรุนแรงขึ้น คอและหลังเกร็งแอ่นมากขึ้น ไม่ดูดนม ชัก หยุดหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้

ภาวะตัวเหลืองที่หายได้เอง

ภาวะตัวเหลืองส่วนใหญ่จะดีขึ้นหลังทารกมีอายุ 1 สัปดาห์ และจะหายเหลืองภายในอายุ 1 เดือน

โดยมากแล้วภาวะนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทารก ยกเว้นในกรณีที่ระดับบิลิรูบินสูงมากอาจมีผลต่อสมองของทารกได้

ทารกที่ได้รับนมไม่เพียงพอ มีน้ำหนักลดมาก มีโอกาสตัวเหลืองมากกว่าปกติ ดังนั้นการให้นมมารดาจึงควรให้อย่างน้อย 8-10 มื้อต่อวันในช่วงแรก เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มารดาสร้างน้ำนมได้มากขึ้น และช่วยลดอาการตัวเหลืองของทารก

เนื่องจากนมมารดาเป็นอาหารที่สำคัญของทารก หากมีปัญหาในการให้นมบุตร กรุณาปรึกษากุมารแพทย์ทารกแรกเกิด พยาบาล หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการให้นมบุตร

การรักษาภาวะตัวเหลือง

ภาวะตัวเหลืองสามารถรักษาได้โดย

1.การส่องไฟ (Phototherapy)

โดยใช้หลอดไฟชนิดพิเศษให้แสงสีฟ้าที่มีความยาวคลื่นแสงที่เหมาะสมเท่านั้น ขณะส่องไฟ จะต้องถอดเสื้อผ้าทารก ปิดตา และแพทย์จะตรวจเลือดเพื่อดูระดับบิลิรูบินเป็นระยะๆ จนลดลงอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ผลเสียของการส่องไฟคือ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ น้ำหนักตัวลดลง เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำเพิ่มขึ้นจากการส่องไฟ ทั้งนี้ การนำบุตรไปตากแดดไม่สามารถ ช่วยลดระดับบิลิรูบิน หรือภาวะตัวเหลืองได้

2.การเปลี่ยนถ่ายเลือด

ในกรณีที่ค่าตัวเหลืองสูงเกินเกณฑ์ และรักษาโดยการส่องไฟแล้วค่าตัวเหลืองไม่ลดลง ก็มีความจำเป็นต้องป้องกันการเกิดภาวะสารเหลืองไปจับที่เนื้อสมอง( kernicterus) จึงต้องมีการเปลี่ยนถ่ายเลือดทารก นำเลือดทารกที่มีบิลิรูบินสูงออกจากตัวเด็ก และเติมเลือดอื่นเข้าไปทดแทน จะทำในกรณีที่ระดับบิลิรูบินสูงมาก หรือทารกเริ่มมีอาการแสดงทางสมองเพื่อลดระดับบิลิรูบินอย่างรวดเร็ว

3.แก้ไขที่สาเหตุของภาวะตัวเหลือง

วิธีการสังเกตลูกตัวเหลือง

ทารกบางคนจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีตาและตัวเหลือง แต่ก็มีวิธีการสังเกตอย่างง่ายๆ

คือการนำทารกไปอยู่ในห้องที่มีแสงสว่างพอ และควรเป็นแสงสีขาว ใช้นิ้วมือกดลงบนผิวหนังเด็กหรือใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้กดที่ผิวหนังพร้อมกับแยกออกจากกันเพื่อรีดเลือดออกจากหลอดเลือดฝอยบริเวณที่จะตรวจ สังเกตสีที่เกิดขึ้น ซึ่งปกติจะเห็นเป็นสีขาว แต่ถ้าเห็นเป็นสีเหลือง โดยเฉพาะถ้าเหลืองถึงขาหรือหน้าแข้ง ควรรีบพาทารกไปพบแพทย์

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์