Home School ข้อดีข้อเสียของการเรียนหนังสืออยู่บ้าน

Home School ข้อดีข้อเสียของการเรียนหนังสืออยู่บ้าน

การให้ลูกเรียนหนังสืออยู่บ้าน พ่อแม่สอนลูกเองที่บ้าน หรือ Home School เริ่มเป็นที่นิยมของพ่อแม่ยุคใหม่ ถือว่าเป็นการศึกษาทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าคืออะไร มาทำความรู้จัก Home School และศึกษาข้อดีข้อเสียของการเรียนหนังสืออยู่บ้าน เพื่อให้พ่อแม่ได้ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะกับตัวเองกันดีกว่า

 

Home School คืออะไร

เว็บไซต์ homeschoolnetwork หรือ "เครือข่ายบ้านเรียน" ศูนย์กลางสำหรับการสร้างเครือข่ายสมาชิกบ้านเรียนหรือผู้จัดทำโฮมสคูลในเมืองไทย ได้อธิบายถึงการจัดการศึกษาโดยครอบครัวหรือการทำโฮมสคูล (Home School) ว่า ทำได้หลายรูปแบบ แต่แบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ

 

1.ไม่ต้องการวุฒิการศึกษา จะทำตามความต้องการของครอบครัว อาจจะมีจดหมายมาเรียกตัวเมื่ออายุถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียน (7 ขวบ) และอาจจะต้องเสียค่าปรับ

 

2.ต้องการวุฒิการศึกษา ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีหลายช่องทางให้เลือกได้ ยกตัวอย่างเท่าที่ทราบข้อมูลดังนี้
- จดทะเบียนการจัดการศึกษาโดยครอบครัวกับเขตพื้นที่การศึกษาตามพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ จดได้ตั้งแต่ระดับชั้นก่อนประถมเมื่ออายุครบ 4 ปีเต็ม การจดระดับอนุบาลนั้นไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ จะจดหรือไม่ก็ได้
- กศน. ตามการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- ฝากชื่อ/จดกับโรงเรียนที่รับเด็กบ้านเรียน การจัดการเรียนการสอนโดยร่วมกับโรงเรียนอาจต่างกันไป
- มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม สำหรับระดับประถมศึกษาป?ที่ 1 - 6
- สถาบันการศึกษาทางไกล อ่านได้ที่ http://www.dei.ac.th/old/genertal03032554.html
- Distance Learning หลักสูตรต่างประเทศ
- สอบเทียบวุฒิมัธยมปลายด้วยระบบต่างประเทศ
ข้อดีของ Home School

สำหรับข้อดีของ Home School เว็บไซต์ พัฒนาการเด็ก ได้บอกข้อได้เปรียบของ Home School ไว้ดังนี้

1.พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับลูกเต็มที่ ความผูกพันอบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกย่อมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

2.พ่อแม่ผู้ปกครองมีโอกาสเลือกและปรับแนวทางการจัดหลักสูตร และการสอนให้เหมาะกับแบบแผนชีวิต ความเชื่อตลอดจนความต้องการ และความพร้อมของลูกได้อย่างยืดหยุ่นแทนการส่งลูกไปรับการศึกษาที่บังคับให้ลูกต้องเรียนทุกอย่างเหมือนๆ และพร้อมๆ กับเด็กอื่นๆ ในขณะที่ลูกยังอาจไม่สนใจหรือไม่พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้นๆ

3.เด็กได้รับการปฏิบัติในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและสิทธิเสรีภาพของตนเอง ไม่มีพ่อแม่คนใดว่าลูกว่าเป็นเด็กเรียนช้าหรือเด็กมีปัญหาเหมือนในโรงเรียน

4.การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องตลอดเวลาโดยไม่มีเปิดเทอมหรือปิดเทอมที่ชัดเจน การเรียนรู้อย่างสนุกสนานต่อเนื่องจะค่อยๆ ปลูกฝังจิตวิญญาณ แห่งการเรียนรู้อยู่เสมอเช่นกัน

5.และในชีวิตจริงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองก็ไม่มีเปิดเทอมหรือปิดเทอมเช่นกัน การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ลงมือปฏิบัติจริงเป็นได้ง่ายขึ้นในบรรยากาศของครอบครัว ที่สามารถจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ทั้งในบ้านนอกบ้านได้มากมาย แทนที่จะให้เด็กเรียนแต่จากหนังสือและคำบรรยายเท่านั้น

 

ข้อเสียของ Home School

ส่วนข้อเสียของ Home School นั้น เว็บไซต์ educationcorner.com ได้รวบรวม 10 ข้อเสียของการเรียนหนังสือที่บ้าน ซึ่งหลักๆ แล้วความสำคัญอยู่ที่พ่อแม่ ที่ต้องเตรียมตัวรับมือให้ดี

1.การอยู่กับลูกตลอดเวลาแทบจะทั้งวันนั้น พ่อแม่จะเริ่มจัดการได้ยาก เมื่อลูกรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวายไม่อยากเรียน

2.เลือกให้ลูกเรียนหนังสืออยู่บ้าน พ่อแม่จำเป็นต้องตอบคำถาม และอธิบายเรื่องโฮมสคูลอยู่บ่อยๆ การพูดคุยกับคนอื่นที่แตกต่างกันนั้น อาจจะทำให้รู้สึกเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ และสงสัยในตัวเองว่าที่ตัดสินใจไปนั้นถูกต้องหรือเปล่า

3.พ่อแม่ต้องยับยั้งอารมณ์โกรธและอดทนให้มากเมื่อลูกดื้อ ไม่อยากเรียนหนังสือ

4.ต้องวางแผนจัดการสอนแบบโฮมสคูลให้ดี เพราะอาจจะไม่เข้มข้นเท่ากับการเรียนในโรงเรียน ทำให้ลูกเรียนรู้ได้ช้ากว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน

5.พ่อแม่ต้องเตรียมเงินเพื่อซื้อหนังสือจำนวนมาก รวมไปถึงค่าอุปกรณ์การเรียน หรือสื่อการสอนแบบต่างๆ

6.ในฐานะคุณครู พ่อแม่ต้องศึกษาให้มากเพื่อจะพร้อมให้ความรู้กับลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

7.เพื่อให้ลูกตั้งใจเรียน พ่อแม่ต้องคอยกระตุ้นลูกอยู่เสมอ ลูกจะได้พร้อมเรียนรู้

8.ต้องคอยพูดคุยกับพ่อแม่คนอื่นๆ ที่สอนหนังสือให้ลูกที่บ้านแบบเดียวกัน เพื่อขอคำแนะนำ และวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม

9.ถ้าอยากให้ลูกเรียนรู้อย่างเหมาะสมตามช่วงวัย พ่อแม่ต้องใช้เวลาอย่างมากในการศึกษาแนวทางการเรียนของเด็ก ค้นหาหลักสูตรที่ลูกจำเป็นต้องรู้ รวมถึงการจัดโปรแกรมการเรียนการสอนให้ลูกอย่างเหมาะสม

10.ใช้เวลาหาคนที่เรียนหนังสือที่บ้านแบบเดียวกับลูก เพื่อให้เด็กที่เรียนแบบโฮมสคูลได้รู้จักกัน จะได้สร้างสังคมให้กับลูก โดยที่ลูกไม่รู้สึกแปลกแยก

 

แต่ละครอบครัวก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน ไม่ว่าพ่อแม่จะเลือกให้ลูกเรียนทางไหน ก็ย่อมดีที่สุดแล้วกับการตัดสินใจ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์