วิวัฒนาการของการรักษาโรคหอบหืด!

วิวัฒนาการของการรักษาโรคหอบหืด!

โรคหืดเป็นโรคที่พบมาเป็นพันๆ ปีแล้ว ได้เคยรายงานไว้โดย Hippocrates ผู้เป็น “บิดาแห่งวงการแพทย์” ในสมัยก่อนคริสตกาล โดยได้กล่าวว่า โรคหืดเป็นโรคที่มีอาการเป็นๆ หายๆ เกิดอาการได้ทันที มีสาเหตุสำคัญคือ อากาศเย็น อากาศชื้น มีสาเหตุในตัวผู้ป่วยเอง และจากภาวะสิ่งแวดล้อม แต่ความรู้โรคหืดนี้เพิ่งมารู้ถึงกลไกของสาเหตุ ตลอดจนศึกษาด้านต่างๆ อย่างละเอียดลึกซึ้งเมื่อ 40-50 ปีที่ผ่านมา

โรคหืดเป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยในเด็ก โรคนี้เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของทุกประเทศ เป็นโรคที่ทำให้เด็กหยุดโรงเรียนมากที่สุด เป็นโรคที่ทำให้เด็กมีคุณภาพชีวิตเลวลง ทำให้ครอบครัวและประเทศชาติสูญเสียเศรษฐกิจอย่างมาก
โรคหืดเป็นโรคที่มีอาการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้หลอดลมของผู้ป่วยมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้หรือสิ่งกระตุ้นบางชนิดที่เข้าร่างกายมากกว่าคนปกติ ทำให้หลอดลมมีปฏิกิริยาโดยการหดเกร็ง ผลิตเสมหะมากขึ้น และผนังหลอดลมบวม ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง ผู้ป่วยขาดออกซิเจน จึงต้องหายใจหอบ
อาการของเด็กที่เป็นหืด ระยะเริ่มแรกอาจจะมีแค่ไอเรื้อรัง ไอมากเวลากลางคืน ไอมีเสมหะ เด็กเล็กๆ บางทีไอมากจนอาเจียนเอาเสมหะเหนียวออกมา เวลาเป็นมากขึ้นจะมีอาการหอบ เหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจเสียงวี้ด ๆถ้าเป็นไม่มากอาการหอบอาจหายได้เอง ถ้าเป็นมากต้องได้ยาขยายหลอดลมโดยการสูดดม หรือการฉีดจึงจะดีขึ้น
อาการที่เกิดขึ้นมักจะมีสิ่งกระตุ้น เช่น เป็นไข้หวัด หลังการออกกำลังกาย ได้รับสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ควันธูป หรือการเปลี่ยนแปลงของอากาศเช่น เวลาฝนจะตก หรืออากาศหนาว หรือได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น รังแคสัตว์ (เช่น สุนัข แมว เศษแมลงสาบ) เกสรพืช เชื้อรา ในอากาศ หรือเครียด การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
ผู้ป่วยโรคหืดในเด็กมักมีอาการโรคภูมิแพ้อื่นๆ ร่วม เช่น ผื่นภูมิแพ้ (atopic dermatitis) หรือ โรคภูมิแพ้ที่มีอาการทางจมูก (allergic rhinitis) และมักจะมีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว

วิวัฒนาการของการรักษาโรคหอบหืด!

การวินิจฉัยโรคนี้ทำได้ไม่ยาก ที่สำคัญที่สุดคือ ประวัติการหอบเป็นๆ หายๆ อาการดีขึ้นเมื่อได้รับยาขยายหลอดลม มีประวัติโรคภูมิแพ้อื่นร่วม หรือมีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัวเมื่อเป็นโรคนี้แล้วควรทำการหาสาเหตุว่ามีสาเหตุจากการแพ้สารที่เข้าร่างกายหรือไม่ สารที่สำคัญคือ สารก่อภูมิแพ้ที่เข้าทางการหายใจ (ที่สำคัญได้แก่ ไรฝุ่น รังแคสัตว์ เกสรพืชที่อยู่ในบรรยากาศที่หายใจ) หรืออาหาร (เด็กเล็กอาจแพ้นมวัว ซึ่งอาจทำให้เกิดผื่น อาการทางจมูกหรือการหอบก็ได้) ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรได้รับการหาสาเหตุการแพ้เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงสาเหตุได้ถูกต้อง ซึ่งสามารถทำได้โดยการทดสอบทางผิวหนัง หรือเจาะเลือดเพื่อหาสารที่ผู้ป่วยแพ้ (specific IgE) การทดสอบทางผิวหนังจะให้ผลใกล้เคียงกับความเป็นจริงดีกว่า ไม่ไวเกินไป ได้ผลภายใน 20 นาที และราคาถูก ส่วนการเจาะเลือดมักให้ผลไวเกินไป ได้ผลช้า และราคาแพง แต่อาจจะทำเมื่อมีผื่นเต็มตัวจนหาที่ทดสอบทางผิวหนังไม่ได้

เด็กที่มีอาการหอบไม่จำเป็นว่าจะเกิดจากโรคหืดแต่อย่างเดียว อาจมีโรคอีกมากมายที่ทำให้เกิดอาการหอบได้ เช่น หลอดลมฝอยอักเสบจากไวรัส ปอดอักเสบ โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด หัวใจวาย มีก้อนในช่องอกกดหลอดลม ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลอดลม สิ่งแปลกปลอมหลุดไปติดในหลอดลม ฯลฯ
เมื่อได้การวินิจฉัยว่าเด็กเป็นโรคหืด หาสาเหตุแล้วและไม่มีโรคอื่นที่อาจทำให้การวินิจฉัยผิดแล้ว ปัญหาต่อไปก็คือ การรักษาที่ถูกต้อง เป้าหมายของการรักษาโรคหืดในเด็ก คือ :-
สามารถควบคุมอาการ ไม่ให้เด็กเกิดอาการหอบ

ให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ รวมทั้งสามารถออกกำลังกายได้ ให้ปอดมีสมรรถภาพปกติหรือใกล้เคียงปกติ พยายามป้องกันไม่เกิดการกำเริบของโรคหรือต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยๆ เพราะการหอบบ่อยๆ จะเกิดพังผืดในหลอดลม และทำให้หน้าที่ปอดเสียไป หลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของยาที่ใช้
ป้องกันการเสียชีวิตจากโรคหืด

วิวัฒนาการของการรักษาโรคหอบหืด!

แพทย์ผู้รักษาจะมีหลักการรักษาโรคหืดเป็นขั้นตอน เพราะโรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ บางครั้งรุนแรง แพทย์จะมีหลักการรักษาโรคหืด ดังนี้
1. ให้ความรู้แก่ครอบครัวหรือผู้เลี้ยงดู เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้และให้ความร่วมมือกับแพทย์เกี่ยวกับการรักษาอย่างเต็มที่ เช่น การให้ยาตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด สังเกตอาการผิดปกติโดยเฉพาะในเด็กเล็ก
2. หาสาเหตุการแพ้ของผู้ป่วย ผู้ป่วยเด็กที่เป็นหืดมักมีสาเหตุจากการแพ้ประมาณ 80% อีก 20% อาจหาสาเหตุไม่พบ เมื่อพบสาเหตุควรหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นๆ ให้มากที่สุด เช่น ทำบ้านเรือนโดยเฉพาะห้องนอนให้สะอาด ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ควรซักด้วยน้ำร้อนประมาณ 60-70 องศา เพื่อฆ่าไรฝุ่น ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ในบ้าน ไม่ควรมีคนสูบบุหรี่ในบ้าน
3. แพทย์จะประเมินความรุนแรงของโรคในแต่ละคนเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม ยารักษาโรคหืดในปัจจุบันดีกว่าสมัยก่อนมาก เพราะเป็นยาที่รักษาการอักเสบที่หลอดลมที่เป็นต้นเหตุของโรค สมัยก่อนมักเป็นแค่ยาขยายหลอดลมที่ช่วยแต่ระงับอาการเท่านั้น แต่โรคยังดำเนินต่อไป
โรคหืดมี 2 ระยะที่พ่อแม่ควรเข้าใจ
1. ระยะไม่มีอาการหอบ ระยะนี้เด็กอาจปกติ แต่ก็พร้อมที่จะหอบถ้าพบสารก่อภูมิแพ้ หรือมีปัจจัยกระตุ้น ไม่ได้หมายความว่าเด็กหายจากโรคแล้ว แพทย์จะเป็นผู้บอกว่าเด็กควรได้รับยาควบคุมอยู่หรือไม่ ยาคุมอาจมีทั้งยาพ่นซึ่งอาจเป็นสารพวกสเตียรอยด์ แต่จะมีการดูดซึมน้อยเป็นการรักษาตามมาตรฐานสากล เพราะจะช่วยให้หลอดลมไม่มีการอักเสบ ยานี้อาจต้องใช้นานตามคำแนะนำแพทย์ซึ่งอาจเป็นปีก็ได้ พ่อแม่บางรายมักหยุดยาเอง ทำให้โรคเรื้อรังมากขึ้น การรักษาให้โรคหายลำบากมากขึ้น ปัจจุบันอาจมียากินทำให้อาการหอบน้อยลงซึ่งขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในรายเป็นเรื้อรังและมีสาเหตุแพ้ชัดเจน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจแนะนำฉีดสารก่อภูมิแพ้เป็นระยะเพื่อสร้างภูมิให้ผู้ป่วย
2. ระยะกำลังหอบ ถ้าหอบไม่มาก แพทย์อาจสั่งยาขยายหลอดลมไว้ให้ใช้ที่บ้าน ก็ต้องใช้ตามแพทย์สั่ง ถ้ายังไม่หายก็ควรรีบไปโรงพยาบาล ไม่ควรรอจนอาการมาก เพราะอาจมีอันตรายได้ ถ้าจำเป็นแพทย์จะให้อยู่โรงพยาบาลซึ่งต้องให้ออกซิเจน ให้น้ำเกลือ ให้ยาพิเศษ หรือตรวจว่ามีโรคแทรกหรือไม่ เช่น ปอดบวม เมื่อหายหอบดีแล้วแพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน ก็ต้องไปพบแพทย์ตามนัด
โดยสรุป โรคหืดเป็นโรคเรื้อรัง มักเริ่มเป็นตั้งแต่วัยเด็ก การรักษาที่ถูกต้องจะทำให้โรคสามารถควบคุมได้โดยง่าย ไม่มีอันตราย ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีโอกาสหายจากโรคได้ ยาและวิธีการรักษาในปัจจุบันดีขึ้นมาก จึงควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถ้าบุตรหลานท่านยังมีอาการเรื้อรัง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :matichon

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์