ลูกในครรภ์โตช้าน้ำหนักน้อยเพราะอะไร

ลูกในครรภ์โตช้าน้ำหนักน้อยเพราะอะไร

ทารกที่คลอดออกมาน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,277 กรัมถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ตามค่าเฉลี่ยในประเทศไทย สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ทารกโตช้าขณะอยู่ในครรภ์ ซึ่งอาจทำให้ทารกมีพัฒนาการทางร่างกายและความสามารถในการเรียนรู้ที่ต่ำกว่าเด็กปกติ รู้อย่างนี้แล้วคุณแม่คงไม่อยากให้ลูกในครรภ์ไม่โตใช่ไหมคะ เรามาดูกันว่าสาเหตุที่ทำให้ทารกในครรภ์โตช้าน้ำหนักน้อยคืออะไร และเราจะสามารถป้องกันได้หรือไม่

ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ หมายถึง การที่ทารกในครรภ์ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มศักยภาพที่ควรจะเป็น ทารกจะตัวเล็กและน้ำหนักตัวน้อยกว่าอายุครรภ์จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าทารกที่ตัวเล็กและน้ำหนักตัวน้อยจะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ทั้งหมด ทารกที่พ่อและแม่ตัวเล็ก ทารกก็จะอาจจะตัวเล็กได้ แม้ว่าจะเจริญเติบโตปกติก็ตาม

จะรู้ได้อย่างไรว่าทารกในครรภ์เติบโตช้า

แพทย์จะทำการวินิจฉัยว่าคุณแม่มีความเสี่ยงว่าทารกในครรภ์โตช้าหรือไม่ จากการซักประวัติ เช่น

  • คุณแม่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องหรือไม่
  • คุณแม่เคยอยู่ในภาวะโตช้าในครรภ์มาก่อนหรือไม่
  • นี่เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรกหรือไม่
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ก่อนอายุ 19 ปีหรือไม่
  • คุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปหรือไม่
  • คุณแม่ตั้งครรภ์มากกว่า 5 ครั้งขึ้นไปหรือไม่

ดูจากน้ำหนักตามอายุครรภ์ของทารก

ทารกแรกคลอดจะมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 3 กิโลกรัม และน้ำหนักตัวของคุณแม่ควรเพิ่มขึ้นประมาณ 12-15 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่ที่น้ำหนักเพิ่มขึ้น 20 กิโลกรัม แล้วลูกจะตัวใหญ่ตามไปด้วยนะคะ ดังจะเห็นอยู่เสมอว่า คุณแม่ที่น้ำหนักขึ้นเยอะๆ แต่ลูกตัวเล็กนิดเดียว เพราะสิ่งที่คุณแม่รับประทานเข้าไปนั้นไม่ถึงลูกน้อย แต่กลับเป็นส่วนเกินที่คุณแม่ยากจะลดลงได้แม้คลอดลูกไปนานแล้วก็ตาม

ดูจากระดับของยอดมดลูกของแม่

  • อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะอยู่เหนือกระดูกหัวเหน่า โดยแบ่งส่วนที่ต่ำกว่าสะดือเป็น 3 ส่วน
  • อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะอยู่เหนือกระดูกหัวเหน่าประมาณ 1 ใน 3
  • อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ยอดมดลูกเริ่มสูงประมาณ 2 ใน 3 เหนือกระดูกหัวเหน่า
  • อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะอยู่ตรงสะดือพอดี
  • อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะสูงประมาณ 1 ใน 4 เหนือสะดือ
  • อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะสูง 2 ใน 4
  • อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะสูงประมาณ 3 ใน 4
  • หลังจาก 37 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะอยู่สูงสุดคือ 4 ใน 4
  • หากเป็นท้องแรกเมื่อศีรษะเด็กเข้าสู่อุ้งเชิงกราน ท้องจะเริ่มลดต่ำลง

ดูจากการอัลตร้าซาวนด์

แพทย์จะทำการอัลตร้าซาวนด์โดยวัดขนาดของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ ความกว้างของศีรษะ เส้นรอบวงศีรษะ เส้นรอบท้อง ความยาวกระดูกต้นขา เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยที่แม่ยำว่าทารกในครรภ์อยู่ในภาวะโตช้าหรือไม่

สาเหตุที่ทารกในครรภ์ไม่โต

สาเหตุที่ทารกในครรภ์ไม่โต เกิดขึ้นได้จาก 3 สาเหตุหลัก คือ

  1. เกิดจากความผิดปกติของแม่

มารดามีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะซีด โรคหัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้การส่งออกซิเจนไปยังลูกไม่เพียงพอ ดื่มเหล้าระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้ทารกผิดปกติ พิการ ปัญญาอ่อนได้ สูบบุหรี่ ซึ่งจะมีผลทำให้รกเสื่อมเร็ว ขาดอาหาร น้ำหนักตัวน้อย

  1. เกิดจากความผิดปกติของลูก

โครโมรโซมผิดปกติ เช่น กลุ่มดาวน์ซินโดรม มีความพิการแต่กำเนิด ทารกครรภ์แฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวที่มีการเชื่อมต่อผิดปกติของหลอดเลือด มีการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์

  1. เกิดจากความผิดปกติของมดลูก รก และสายสะดือ

มดลูกรูปร่างผิดปกติ รกเสื่อม รกลอกตัวบางส่วน รกเกาะต่ำ มีเนื้องอกของรก สายสะดือพันกัน หรือผูกเป็นปม ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่พอเพียง ทารกจึงเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่

ความรุนแรงของภาวะทารกในครรภ์ไม่โต

ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้าอันตรายแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยโตช้า

  • หากเกิดจากรกเสื่อม หรือแม่มีความความดันโลหิตสูง ตั้งครรภ์เกินกำหนด หรือทารกมีภาวะขาดออกซิเจนไม่นาน เมื่อคลอดออกมาและได้รับอาหารที่เพียงพอ เด็กก็จะสามารถเติบโตได้ดีเหมือนเด็กปกติ
  • หากเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม ทารกอาจมีชีวิตหลังคลอดหรือเสียชีวิตหลังคลอด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความผิดปกตินั้น
  • หากเกิดจากการติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์ อาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้

ทำอย่างไรเมื่อทารกในครรภ์ไม่โต

  1. คุณแม่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ ควบคุมปัจจัยที่ทำให้สุขภาพทารกในครรภ์แย่ลง
  2. ลดละเลิกสารเสพติด บุหรี่  เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  3. แม่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 8-10 ชั่วโมง นอนกลางวันประมาณ ½ -1 ชั่วโมง
  4. ตรวจหาโรคที่มีผลอย่างละเอียด เพื่อที่จะรักษาโรคนั้นให้หายไป
  5. กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยเพิ่มพลังงานจากอาหารวันละ 300 กิโลแคลลอรีเพื่อให้เพียงพอไปเสริมสร้างการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์
  6. ปรับเปลี่ยนท่าทางและพฤติกรรม เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลูกได้รับออกซิเจนมากขึ้น เช่น คุณแม่ควรนอนตะแคงซ้าย เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกและรกมากที่สุด รับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
  7. การนับลูกดิ้นในเวลา 12 ชั่วโมง ลูกควรจะดิ้นไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง
  8. อยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไปตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอครบกำหนดนัดครั้งต่อไป

สามารถป้องกันไม่ให้ลูกในครรภ์โตช้าได้หรือไม่

คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่สามารถทำได้ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่  พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การพักผ่อน ความเครียด ระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อต่างๆ และหากมีโรคประจำตัวก็ต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์