30 ยาที่คนท้องห้ามกิน - คนท้องห้ามกินยาอะไรบ้าง?

30 ยาที่คนท้องห้ามกิน - คนท้องห้ามกินยาอะไรบ้าง?

ยาที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์

ยาบางชนิดอาจมีอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่จึงไม่ควรซื้อยาใด ๆ มากินเองโดยเด็ดขาด แม้จะเป็นยาสามัญประจำบ้านก็ตาม เพราะยาทุกชนิดรวมถึงยาสามัญประจำบ้านหลายชนิดก็อาจทำให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ได้ คุณแม่จึงควรใช้ยาเท่าที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง ถ้ามีปัญหาการเจ็บป่วยควรรีบไปพบแพทย์จะดีที่สุด คราวนี้เรามาดูกันดีกว่าครับว่ามียาอะไรบ้างที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หรือมีผลต่อการคลอดและหลังการคลอด โดยจะขอยกตัวอย่างยาที่เป็นอันตรายแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ดังต่อไปนี้

1.ยาปฏิชีวนะและยาแก้อักเสบ เช่น 

เตตร้าไซคลิน (Tetracycline) เป็นยาปฏิชีวนะและรักษาสิว จะส่งผลต่อการสร้างกระดูกและฟันของลูก ถ้าใช้ในหญิงตั้งครรภ์ระหว่าง 6-8 เดือน หลังจากใช้ยานี้จะมีผลไปจับแคลเซียมที่กระดูกและฟันของเด็กทารก ทำให้เด็กมีกระดูกและฟันไม่สมบูรณ์ ฟันเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาลไปตลอดชีวิต และยังทำให้การเจริญของกระดูกและสมองผิดปกติไปด้วย นอกจากนี้ถ้าใช้ในปริมาณที่สูงมาก จะเกิดการทำลายตับของคุณแม่อย่างรุนแรงและคุณแม่อาจเสียชีวิตได้, 
สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) เป็นยาที่อาจทำให้ลูกหูตึงหรือหูหนวกได้, 
คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) เป็นยาที่จะกดการทำงานของไขกระดูกที่สร้างเม็ดเลือด ทำให้เม็ดเลือดจาง เด็กที่เกิดมามักจะตัวเขียว ซีด ท้องป่อง อาจจะช็อกและเสียชีวิตได้,
คลอโรควิน (Chloroquin) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคมาลาเรียหรือไข้จับสั่น ซึ่งตัวยาอาจทำให้คุณแม่แท้งบุตรได้,
ควินิน (Quinine) อาจทำให้เกิดการแท้งบุตร มีพิษต่อหู และหูอาจหนวกในเด็กแรกคลอด,
เพนิซิลลิน (Penicillins) และแอมพิซิลลิน (Ampicillin) เป็นยาปฏิชีวนะที่ค่อนข้างมีความปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นผู้ที่มีอาการแพ้ยาในกลุ่มนี้เท่านั้น เนื่องจากมีการแพ้ยาชนิดนี้สูงเป็นอันดับหนึ่ง จึงควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติแพ้ยาในกลุ่มนี้ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งในบางคนอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต, ยาแก้อักเสบ เป็นยาที่คุณแม่มักหาซื้อมารับประทานเองบ่อยมาก บางทีมีอาการเจ็บคอเล็กน้อยหรือเป็นหวัดก็ซื้อมาใช้กันแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทราบเลยว่าที่จริงแล้วมันไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะไข้หวัดส่วนใหญ่นั้นจะเกิดจากเชื้อไวรัสที่ยาแก้อักเสบใช้ไม่ได้ผล การกินยาแก้อักเสบบ่อย ๆ นอกจากจะเสียเงินแล้วยังอาจทำให้ดื้อยาอีกด้วย ส่วนสุภาพสตรีไม่ว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม ถ้าใช้ยานี้บ่อย ๆ จะทำให้ช่องคลอดเกิดการอักเสบจากเชื้อรา โดยจะมีอาการตกขาวและคันช่องคลอด, ไนโตรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin) มีผลทำให้ตับของแม่อักเสบ คุณแม่มีอาการซีด มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และนอนไม่หลับ,
ยาปฏิชีวนะในกลุ่มอะมิโนไกลโคโซด์ (Aminoglycoside) เช่น สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin), กานามัยซิน (Kanamycin), เจนตามัยซิน (Gentamicin), ซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) เป็นยาที่ทำให้ประสาทเกี่ยวกับการได้ยินเสียไปบางส่วนหรืออาจรุนแรงถึงขนาดทำให้เด็กแรกเกิดหูหนวกได้ ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ใช้ยาเหล่านี้ในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนคลอด อาจทำให้ทารกคลอดออกมาแล้วตัวเหลืองได้

2.ยาแก้ปวด ลดไข้ เช่น 

แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ถ้าคุณแม่กินในช่วงตั้งครรภ์อ่อน ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงการแท้งบุตรได้ถึง 5-6 เท่า อาจส่งผลรบกวนการแข็งตัวของเลือดและเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในขณะตั้งครรภ์ ถ้ากินยามใกล้คลอดอาจจะไปยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือดของทารกในครรภ์ ทำให้เลือดไหลไม่หยุดได้ นอกจากนี้ยาแอสไพริน (รวมถึงยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) ยังมีผลทำให้คุณแม่คลอดเกินกำหนดและคลอดยากขึ้นอีกด้วย,
เออร์โกตามีน (Ergotamine) มีคุณแม่หลายคนที่ก่อนตั้งครรภ์มักมีอาการปวดศีรษะข้างเดียวหรือไมเกรน แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้วคุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดศีรษะในกลุ่มเออร์โกตามีน เพราะยาในกลุ่มนี้จะทำให้มดลูกบีบตัว อาจทำให้แท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดได้,
ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ถ้าคุณแม่รับประทานเข้าไปในช่วงเริ่มตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรเป็น 5-6 เท่า และหากใช้ติดต่อกันนาน ๆ เกิน 1 สัปดาห์ ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 เท่า,
นาโพรเซน (Naproxen) เป็นยาเม็ดบรรเทาปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ มีผลทำให้เกิดการยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือดเหมือนแอสไพริน จึงไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์

3.ยาแก้คัน แก้แพ้ เช่น
คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) นอกจากแก้คัน แก้แพ้แล้ว ยังช่วยลดน้ำมูก ถ้าใช้เพียงชั่วคราวอาจจะไม่ส่งผลต่อคุณแม่มากนัก แต่ถ้าใช้ติดต่อกันไปนาน ๆ จะทำให้มีเกล็ดเลือดต่ำ ลูกที่เกิดมาอาจมีอาการเลือดไหลผิดปกติ และยาแก้แพ้บางชนิดก็อาจทำให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้ด้วย
ยาแก้ไข้หวัด มักจะประกอบด้วย ยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอลและยาแก้แพ้หรือยาลดน้ำมูก โดยทั่วไปก็ไม่มีอันตรายอะไรมากครับ เพียงแต่ถ้าต้องใช้เป็นเวลานาน ๆ ก็ควรจะปรึกษาแพทย์เป็นดีที่สุด คุณแม่จึงไม่ควรซื้อยาชุดแก้หวัดที่มีขายตามร้านขายยา เพราะบางทีอาจมียาแก้อักเสบบางอย่างและสเตียรอยด์ปนมาด้วย

4.ยาแก้ไอ

ถ้าเป็นยาแก้ไอชนิดที่มีไอโอดีน คุณแม่ไม่ควรใช้เลย เพราะอาจทำให้ทารกเกิดอาการคอพอกและมีอาการผิดปกติทางสมองได้

5.ยานอนหลับและยากล่อมประสาท

ถ้าเป็นยาตามที่แพทย์สั่งก็คงไม่เป็นอะไร แต่คุณแม่ไม่ควรซื้อยาประเภทนี้มาใช้เองเมื่อนอนไม่หลับ เพราะถ้าใช้ยาในปริมาณมาก ๆ จนเกิดการติดยา ลูกที่เกิดมาอาจมีอาการหายใจไม่ปกติ เคลื่อนไหวได้ช้า มีอาการคล้ายคนติดยา และชักกระตุกได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้มีเลือดออกผิดปกติในตัวเด็กอีกด้วย
ส่วนยานอนหลับชนิดเมโปรบาเมท (Meprobamate) จะมีผลทำให้เด็กเจริญเติบโตช้า ถ้าให้ในระยะใกล้คลอดจะกดการหายใจของเด็กแรกเกิด (ส่วนนี้ไม่ยืนยัน),
ส่วนไดอะซีแพม (Diazepam) ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด เด็กแรกเกิดจะมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตัวเย็น และอาจแสดงถึงอาการขาดยาหลังคลอดได้

6.ยารักษาเบาหวาน

ถ้าเป็นยาฉีดแบบอินซูลินก็ใช้ได้ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แต่ถ้าเป็นแบบชนิดรับประทานอาจจะส่งผลทำให้น้ำตาลในเลือดของทารกต่ำ และเคยมีรายงานว่า ยากลุ่มนี้ทำให้ทารกพิการ คุณแม่ที่เป็นเบาหวานแพทย์จะเปลี่ยนจากยาเม็ดรับประทานเป็นยาฉีดอินซูลินแทน นอกจากจะไม่เป็นอันตรายแล้วยังช่วยควบคุมเบาหวานได้ดีกว่าด้วย ส่วนยารักษาเบาหวานชนิดคลอร์โปรปาไมด์ (Chlorpropamide) จะมีผลทำให้เด็กแรกเกิดมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ

8.ยารักษาโรคความดันโลหิต

เช่น รีเซอร์พีน (Reserpine) ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด จะทำให้เด็กแรกเกิดมีอาการคัดจมูก ตัวเย็น ตัวอ่อนปวกเปียก และหัวใจเต้นช้า

9.ยารักษามะเร็ง

เป็นยาที่อาจเป็นพิษต่อทารกได้ ทำให้เกิดปากแหว่ง เพดานโหว่ และผิดรูปผิดร่างได้

10.ยาขยายหลอดลม เช่น

อะมิโนฟิลลีน (Aminophylline), ทีโอฟิลลีน (Theophylline) อาจทำให้เด็กแรกเกิดมีภาวะหัวใจเต้นเร็ว ร้องกวน ตัวสั่น และอาเจียนได้ โดยอาการมักจะปรากฏในช่วง 6-48 ชั่วโมง หลังการคลอด

11.ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น เฟนินไดโอน (Phenindione), อินดานิดิโอน (Indanidione) และคูมาริน (Coumarin) ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ไม่ควรใช้ยาเหล่านี้ เพราะอาจทำให้ลูกเกิดความพิการ เช่น การเจริญของจมูกน้อยลง นอกจากนี้ยังอาจทำให้เด็กในครรภ์หรือเด็กแรกคลอดมีเลือดออกในระหว่างการคลอดได้อีกด้วย

12.ยาแก้อาเจียนหรือยาแก้แพ้ท้อง

ยาประเภทนี้ควรให้คุณหมอเป็นผู้สั่งยา คุณแม่ไม่ควรซื้อมารับประทานเอง เพราะยาแก้อาเจียนบางชนิดอาจทำให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้ ซึ่งยาแก้แพ้ท้องที่ใช้กันปลอดภัยที่สูติแพทย์มักจะจ่ายให้คุณแม่รับประทานจะประกอบไปด้วย ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) และวิตามินบี 6 (Vitamin B6) เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งในและต่างประเทศยังไม่พบว่ายานี้ก่อให้เกิดความพิการต่อทารกแต่อย่างใด

13.ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร (Antacids) ในยาลดกรดชนิดที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) มาก ถ้าคุณแม่ใช้ยานี้ในขนาดสูง ๆ ติดต่อกันเป็นประจำ อาจทำให้คุณแม่เกิดอาการท้องเสีย และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ด้วย ทำให้เด็กแรกเกิดมีปริมาณแคลเซียมและแมกนีเซียมในเลือดสูงจนเกิดอาการชักกระตุก

14.ยาถ่ายพยาธิปิเปอร์ราซีน (Piperazine) และยาต้านสารฮีสตามีนไซคลิซีน (Cyclizine)

แม้ว่ายังไม่มีรายงานในคน แต่ก็พบว่าทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิดในหนูทดลอง เพราะฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ในหญิงตั้งครรภ์

15.ยาขับปัสสาวะ (Diuretics)
เช่น

ฟูโรซีไมด์ (Furosemide) มีชื่อทางการค้าว่า ลาซิกซ์ (Lasix) ที่ใช้ขับน้ำส่วนเกินจากร่างกาย มีผลทำให้เลือดของทารกผิดปกติ ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก (ในสัตว์ทดลองพบว่าทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิด โดยเฉพาะเส้นเลือดและหัวใจ), ยาไธอาไซด์ (Thiazide diuretics) อาจมีผลทำให้เด็กแรกเกิดมีเกล็ดเลือดน้อยลง

16.ยารักษาต่อมไทรอยด์ผิดปกติ เช่น โพพิลไทโอยูราซิล (Propylthiouracil) อาจส่งผลทำให้เกิดคอพอกเป็นพิษได้

17.ยารักษาสิว หรือยาในกลุ่มกรดวิตามินเอชนิดรับประทาน ที่มีชื่อสามัญทางยาว่า ไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) หรือ เรติโนอิกแอซิด (Retinoic acid) และมีชื่อทางการค้าว่า แอคโนทิน (Acnotin®), โรคแอคคิวเทน (Roaccutane®), ไอโซเทน (Isotane®) เป็นยากินที่ใช้รักษาสิวหัวช้างและสิวชนิดรุนแรง เป็นยาที่มีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิด และแม้ว่าทารกที่คลอดออกมาจะดูปกติก็ตาม แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะพบความบกพร่องทางสมองได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่กินยาชนิดนี้อยู่จะต้องคุมกำเนิดก่อนรับประทานยาอย่างน้อย 3 เดือน และต้องหยุดยาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน ถึง 1 ปี ก่อนจึงจะตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย ส่วนในหญิงให้นมบุตรก็ไม่ควรรับประทานยาชนิดนี้เช่นกัน

18.ยาฮอร์โมนเพศ

เป็นยาที่อาจส่งผลต่อการพัฒนาของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศและการสืบพันธุ์ของทารกให้ผิดปกติ ส่วนยาฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ไดเอธิลสติลเบสตรอล (Diethylstilbestrol) หากแม่ได้รับยานี้เพื่อป้องกันการแท้งในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ลูกที่เป็นผู้หญิงเมื่อโตขึ้นจนอายุ 13-24 ปี จะมีโอกาสเป็นเนื้องอก และมะเร็งปากมดลูกและช่องคลอดเพิ่มมากขึ้น

19.ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด
อาจพบความพิการของหลอดเลือดใหญ่และแขนขากุดในทารกได้มากกว่าปกติเล็กน้อย

20.ยากันชัก เช่น

เฟนิโทอิน (Phenytoin), คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine), ไดแลนติน (Dilantin), ไฮแดนโทอิน (Hydantoin)
เป็นยาที่อาจทำให้เกิดความพิการแก่ทารกในครรภ์ ทารกจะเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจช้ากว่าปกติ มีความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า เช่น ตาห่าง จมูกแบน หนังตาตก รวมทั้งแขน ขา โดยเฉพาะเล็บและปลายนิ้วฝ่อ ส่งผลผิดปกติต่อหัวใจ และปัญญาอ่อนได้ ซึ่ง 30% ของแม่ที่กินยาเหล่านี้ ลูกจะมีอาการดังกล่าว
ส่วนยากันชักชนิดฟีโนบาร์บิทาล (Phenobarbital) และบาร์บิทูเรต (Barbiturate) ถ้าคุณแม่กินยานี้ในขนาดสูงในระยะใกล้คลอดมักจะทำให้เด็กในครรภ์หายใจได้ไม่สะดวก เพราะยานี้มีผลไปกดศูนย์การหายใจ นอกจากนี้ยังมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด และอาจทำให้เลือดออกในเด็กแรกเกิด

21.ยาชาเฉพาะที่ (Local anesthetics)

การใช้ยาชาพวกนี้มากเกินไป พบว่า 25% ของเด็กแรกคลอดจะมีหัวใจเต้นช้าลง และอาจมีผลทำให้เด็กในครรภ์เกิดหัวใจเต้นช้า หรือเด็กแรกคลอดหยุดหายใจหรือมีอาการชัก

22.ยาสเตียรอยด์ทุกชนิด (Steroid) เช่น

เพรดนิโซโลน (Prednisolone), เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone), กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) ทำให้โอกาสการแท้งบุตรเพิ่มมากขึ้น การเจริญเติบโตที่ไม่ดีของทารกในขณะที่ในครรภ์ หรือเด็กในครรภ์มีความพิการแต่กำเนิด เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ และยาสเตียรอยด์บางชนิดยังมีผลทำให้ทารกเพศหญิงมีลักษณะของเพศชายอีกด้วย

23.วัคซีนที่ทำจากเชื้อไวรัสที่ยังมีชีวิต (Lived Virus Vaccine) แต่อ่อนแรง เช่น

วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ คางทูม หัด และหัดเยอรมัน แม้จะพบว่ามีอันตรายต่อลูกน้อย หญิงที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์จะต้องคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือน หลังจากได้รับวัคซีนเหล่านี้ โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันและวัคซีนบางอย่างที่อาจทำให้มีโอกาสแท้งสูงขึ้น หรืออาจทำให้เด็กเกิดอาการ Congenital Rubella Syndrome คือ มีลิ้นหัวใจรั่ว ตาบอด หูหนวก

24.ยาแอมโมเนียมคลอไรด์ (Ammonium Chloride)

เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะเกลือคลอไรด์ในร่างกายต่ำ รักษาภาวะร่างกายเป็นด่างผิดปกติ ช่วยละลายเสมหะและเป็นยาแก้ไอ ถ้าคุณแม่ใช้ในปริมาณมากและใช้ในระยะใกล้คลอด เด็กแรกเกิดจะมีภาวะในร่างกายเป็นกรด

25.ยาบรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine)

เป็นยาน้ำที่ใช้รักษาอาการคัดจมูก บรรเทาหวัด ฯลฯ ถ้าคุณแม่กินยานี้ในระยะ 3 เดือนแรก อาจทำให้เด็กในครรภ์พิการได้

26.ยาคลอโรควิน (Chloroquine)


มีข้อบ่งใช้ในหลาย ๆ โรค ทำให้แท้งบุตรบ่อยขึ้น มีผลต่อสมองและประสาทหูของทารกในครรภ์

27.ไอโอดีน (Radioactive I131)

ถ้าให้หญิงมีครรภ์ใช้เกิน 14 สัปดาห์ สารนี้จะไปสะสมอยู่ในต่อมไทรอยด์ของลูก ทำให้เกิดภาวะขาดสารไทรอยด์

28.ไอโอไดด์ (Iodides)

ซึ่งมักผสมอยู่ในพวกยาแก้ไอ ขับเสมหะ หากใช้หลังตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ อาจเกิดคอพอก มีการเจริญเติบโตของสมองทารกช้า และบางครั้งคอพอกอาจใหญ่มากจนกดหลอดลมหรือหลอดอาหารได้

29.วิตามินต่าง ๆ เช่น

วิตามินเอและวิตามินบี ถ้าใช้ในปริมาณมากจะเกิดความพิการของไต ระบบขับถ่ายปัสสาวะ ระบบประสาทแต่กำเนิดได้ จึงไม่ควรได้รับมากกว่าจำนวนที่แพทย์สั่ง, วิตามินซี ถ้าได้รับมากเกินไป อาจทำให้เด็กในครรภ์คลอดออกมาเป็นโรคเลือดออกตามไรฟันได้ ในบางรายอาจทำให้เด็กในครรภ์มีโอกาสพิการตั้งแต่กำเนิด, วิตามินดี ถ้าคุณแม่ได้รับมากเกินไป จะทำให้เกิดความผิดปกติในระบบหลอดเลือดของทารก และอาจทำให้ทารกปัญญาอ่อนได้, วิตามินเค โดยเฉพาะวิตามินเค 3 เช่น มานาดีน (Manadine) ถ้าให้ก่อนคลอดจะเกิดเลือดออกในเด็กแรกคลอดได้ ทำให้เด็กเกิดอาการซีดและเหลืองมาก

3.สารเสพติดและสารพิษอื่น ๆ เช่น

ยาบ้าหรือแอมเฟตามีน (Amphetamine)
ซึ่งเป็นยากระตุ้นประสาท มีผลข้างเคียงทำให้ทารกในครรภ์มีโอกาสพิการแต่กำเนิด โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด,
ยาแอลเอสดี (Lysergic acid diethylamide - LSD) เป็นสารเสพติดที่สกัดจากเชื้อราที่อยู่บนข้าวไรย์ มีฤทธิ์กล่อมประสาท ส่งผลทำให้เกิดการแท้งบุตรได้, เฮโรอีน มอร์ฟีน แม่ที่ติดยาชนิดนี้จะมีโอกาสแท้งบุตรได้ง่าย ลูกออกมาตัวเล็กและมีอาจมีอาการขาดยา คือ กระวนกระวาย อาเจียน มือเท้าสั่น ชัก ร้องเสียงแหลม,
สารนิโคติน (Nicotine) ในบุหรี่ การที่คุณแม่ได้รับสารนิโคตินจากยาสูบ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่จะทำให้เด็กมีอาการสมาธิสั้น อีกทั้งการสูบบุหรี่มากยังทำให้คุณแม่มีโอกาสแท้งและคลอดกำหนดมากขึ้น ลูกที่ออกมามักตัวเล็ก น้ำหนักน้อย หัวใจเต้นเร็วกว่าเด็กปกติ บางครั้งอาจทำให้เกิดความพิการที่รุนแรงได้, การดื่มแอลกอฮอล์หรือแม่ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง จะทำให้เกิดการแท้งบุตรได้มาก เด็กในครรภ์อาจมีความพิการของศีรษะ หน้า แขน ขา หัวใจ มีการเจริญเติบโตในครรภ์ช้าผิดปกติ อาจทำให้เป็นเด็กปัญญาอ่อน และเด็กมีโอกาสเสียชีวิตในระหว่างการคลอดเพิ่มขึ้น,
กาเฟอีน (Caffeine) ในชา กาแฟ น้ำอัดลม แม้ยังไม่มีข้อกำหนดอย่างบ่งชัด แต่มีข้อแนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือยาที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน เนื่องจากคุณแม่ที่ได้รับกาเฟอีนในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ และคลอดลูกก่อนกำหนดได้, สารปรอท ที่ได้รับจากอาหาร อาจทำให้เกิดการแท้งบุตร ลูกเสียชีวิตในครรภ์หรือหลังคลอดเพิ่มมากขึ้น หรือเกิดมามีความพิการทางสมองหรือโรคทางสมองอื่น ๆ



ที่มา medthai

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์