วิธีสังเกต… ลูกเป็นออทิสติกหรือไม่


วิธีสังเกต… ลูกเป็นออทิสติกหรือไม่


ออทิสติกคือ...

โรคออทิสติก (Autistic Disorder) ออทิสซึม (Autism) หรือ ออทิสติกสเปกตรัม (Autistic Spectrum Disorder) เกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติของสมองที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม ไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง ทำให้เกิดความบกพร่องด้านการพูดสื่อสาร และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ร่วมกับมีพฤติกรรมและความสนใจแบบแคบ จำกัด และเป็นแบบแผนซ้ำๆ โดยความบกพร่องเหล่านี้จะเริ่มแสดงให้เห็นในวัยเด็กเล็ก และมีอาการต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ออทิสติกเป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยเหลือให้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะหากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่เริ่มแรก

ขยายความกันอีกนิด... ลักษณะอาการของโรคออทิสติก
ความบกพร่องด้านการพูดและสื่อสาร

ผู้ปกครองมักเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติในขวบปีที่2 เมื่อเด็กยังไม่เริ่มพูดเป็นคำที่มีความหมาย ไม่ตอบสนองเมื่อเรียกชื่อ ไม่ทำตามคำสั่ง ไม่ค่อยสบตาเหมือนเด็กทั่วไป โดยเด็กอาจไม่พูดเลย พูดเป็นคำที่ไม่มีความหมาย หรือมีภาษาเฉพาะตัว (ภาษาต่างดาว) หรือสื่อสารโดยการดึงมือผู้ปกครองให้ทำในสิ่งที่ต้องการ เด็กบางคนอาจเคยพูดเป็นคำได้แล้วแต่พัฒนาการด้านการพูดมาหยุดชะงัก หรือถดถอยในช่วงอายุ 1.6-2 ปี

เด็กบางคนอาจจะเริ่มพูดสื่อสารได้ดีเมื่อโตขึ้น หรือบางคนอาจไม่มีความล่าช้าของพัฒนาการด้านการสื่อสารที่ชัดเจน แต่จะมีลักษณะการพูดที่ผิดปกติ เช่น พูดทวนคำพูดของผู้อื่น พูดโดยใช้คำศัพท์ไม่ถูกต้องเหมาะสมกับบริบท พูดซ้ำๆแต่เรื่องที่ตนสนใจ หรือไม่พูดคุยแบบตอบโต้กับผู้อื่น นอกจากนี้เด็กออทิสติกยังมักมีความผิดปกติของการใช้ภาษาท่าทาง (หรือภาษากาย) (Non-verbal language) ในการสื่อสาร เช่นมีการแสดงมีหน้า ท่าทางที่ไม่เหมาะสม หรือไม่เข้าใจการใช้ภาษาท่าทางของผู้อื่น

ความบกพร่องในด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

ความบกพร่องนี้อาจแสดงให้เห็นตั้งแต่ขวบปีที่2 โดยเด็กอาจจะแสดงอาการติดผู้ปกครอง หรือไม่กลัวคนแปลกหน้าเหมือนเด็กทั่วไป เมื่อโตขึ้นมักมีการแสดงออกของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางสังคม ชอบเล่นคนเดียว ไม่แสดงความสนใจหรือความสนุกร่วมกับผู้อื่น ไม่เล่นแบบมีจินตนาการหรือบทบาทสมมติกับเพื่อน ไม่มีความสัมพันธ์แบบเพื่อนสนิท หรืออาจไม่สนใจที่จะมีเพื่อนเลย

การมีพฤติกรรม และความสนใจแคบ จำกัด และเป็นแบบแผนซ้ำๆ

เด็กมักมีการเล่นหรือแสดงออกของพฤติกรรมที่เป็นแบบแผนซ้ำๆ เด็กชอบนำของเล่นมาเรียงต่อกัน หมุนเล่นไปมา ไม่เล่นตามฟังก์ชั่นของของเล่นชิ้นนั้นๆ (เช่นจับรถของเล่นหงายเพื่อหมุนล้อ) ชอบเล่นแบบเดิมซ้ำๆ ชอบไปสถานที่เดิมๆ หรือมีกิจวัตรที่เป็นแบบแผนเปลี่ยนแปลงได้ยาก เด็กบางคนมีความหมกมุ่นสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป หรือมีความสนใจแปลกกว่าเด็กทั่วไป นอกจากนี้ยังอาจมีประสาทสัมผัสที่ไวมากหรือน้อยเกินไป เช่น การรับสัมผัสด้านความเจ็บปวด อุณหภูมิ เสียง แสง หรือการเคลื่อนไหวของวัตถุ หรือแม้แต่เนื้อสัมผัสของอาหารบางชนิด ผิวสัมผัสของเนื้อผ้าบางประเภท เป็นต้น

นอกจากนี้... ความผิดปกติอื่นๆที่พบร่วม

เด็กออทิสติกอาจพบมีภาวะความบกพร่องของสติปัญญาและการเรียนในด้านต่างๆ อาการขาดสมาธิ ซนและอยู่ไม่นิ่ง พฤติกรรมก้าวร้าว พฤติกรรมทำร้ายตัวเอง หรือพฤติกรรมกระตุ้นตนเองซ้ำๆ เช่นสะบัดมือ เคาะวัตถุ โยกตัว หรือกระโดด เป็นต้น

แล้วจะวินิจฉัยโรคออทิสติกได้อย่างไร?
ออทิสติกสามารถวินิจฉัยได้โดยอาศัยประวัติพัฒนาการ การประเมินทางร่างกายและพฤติกรรมของเด็ก เนื่องจากไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการทดสอบจำเพาะใดๆสำหรับโรคนี้ แต่ทั้งนี้ แพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติม เพื่อวินิจฉัยแยกโรคบางอย่าง เช่น ส่งตรวจการได้ยินเพื่อแยกจากภาวะการได้ยินบกพร่อง เป็นต้น

ผู้ปกครองควรทำอย่างไร ถ้าสงสัยว่าลูกหลานเป็นออทิสติก?
เมื่อสังเกตเด็กตามข้อมูลที่ได้กล่าวไปในเบื้องต้นแล้วสงสัยว่าเด็กเป็นออทิสติก ควรนำเด็กมารับการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อให้การวินิจฉัยและช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด และระหว่างนี้ผู้ปกครองควรกระตุ้นพัฒนาการเด็กด้วยการเล่นกับเด็กมากขึ้น ฝึกให้เด็กพูดตาม สบตา หรือให้ทำตามคำสั่งง่ายๆ

แนวทางการรักษาออทิสติก
แนวทางการรักษา การช่วยเหลือเด็กและครอบครัว ขึ้นกับผลการตรวจประเมินเป็นหลัก โดยเป้าหมายคือเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการแต่ละด้านอย่างสมวัย หรือใกล้เคียงพัฒนาการปกติมากที่สุด โดยมีทีมสหวิชาชีพทำงานร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองในการช่วยเหลือเด็กในด้านต่างๆ ดังนี้

การกระตุ้นพัฒนาการด้านต่างๆ
การฝึกทักษะและแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น การฝึกให้เด็กมีทักษะการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน ฝึกทักษะการเล่นและการเข้าสังคม แก้ไขปัญหาพฤติกรรมต่างๆ รวมทั้งปรับการเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อมตามความเหมาะสม

การช่วยเหลือด้านการเรียนที่เหมาะกับศักยภาพของเด็ก ซึ่งอาจเป็นชั้นเรียนพิเศษ หรือชั้นเรียนร่วมกับเด็กปกติโดยมีการช่วยเหลือเพิ่มเติมรายบุคคล

การใช้ยารักษา อาจมีความจำเป็นในการรักษาบางอย่างที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก เช่นอาการขาดสมาธิ อยู่ไม่นิ่ง หงุดหงิด ก้าวร้าว หรือกระตุ้นตนเอง ทั้งนี้การใช้ยารักษาจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และควบคู่ไปกับการฝึกกระตุ้นพัฒนาการและพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น

เครดิตแหล่งข้อมูล :vichaiyut


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์