5 ภาวะแทรกซ้อน...คุณแม่ตั้งท้องต้องระวัง


5 ภาวะแทรกซ้อน...คุณแม่ตั้งท้องต้องระวัง


  การตั้งครรภ์มีความเสี่ยง อาจเสี่ยงมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ รวมทั้งความสม่ำเสมอ และใส่ใจในการฝากครรภ์ ซึ่งก็มีอาการแพ้ท้อง หนึ่งใน ‘อาการต้องระวังเมื่อเริ่มตั้งครรภ์' อย่างไรก็ตามก็ยังมี 5 ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย สามารถแบ่งตามอายุครรภ์แต่ละไตรมาสดังนี้

อายุครรภ์ ไตรมาสที่ 1 ( 0 - 14 สัปดาห์) ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ได้แก่

 ภาวะที่ 1 การแท้งบุตร
ภาวะที่ 2 การตั้งครรภ์นอกมดลูก


ทั้ง 2 ภาวะนี้ มีอาการเริ่มต้นที่เหมือนกัน คือ เลือดออกจากช่องคลอด หรือปวดท้องน้อย มักจะเกิดในไตรมาสแรก และทำให้ต้องยุติการตั้งครรภ์ในที่สุด ดังนั้นคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกต้องพึงเฝ้าระวังและสังเกตตนเองเสมอว่ามีอาการเลือดออกจากช่องคลอดหรือไม่ หากตรวจพบ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจต่อไป

อายุครรภ์ ไตรมาสที่ 2 (14 - 28 สัปดาห์)

เป็นระยะอายุครรภ์ที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก เพราะเป็นระยะที่รกทำงานได้ดีและทารกอยู่ในระยะเจริญเติบโต มีพัฒนาการ อย่างไรก็ตามภาวะแทรกซ้อนที่มีโอกาสพบ และต้องรีบให้การดูแลรักษา คือ

*ภาวะที่ 3 รกเกาะต่ำ ในการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ รกมักจะเกาะแน่นที่ส่วนบนของมดลูก แต่อาจมีในบางครรภ์ที่รกเกาะบริเวณส่วนล่างของมดลูกลงมาใกล้หรือคลุมปากมดลูก ทำให้การเกาะของรกบริเวณดังกล่าวไม่แข็งแรงเท่าส่วนบน หากมดลูกมีการบีบตัวจะทำให้รกบางตำแหน่งหลุดออกจากตำแหน่งเกาะ และเกิดอาการเลือดออกจากช่องคลอด ดังนั้นหากคุณแม่พบว่ามีเลือดสดออกจากช่องคลอดในไตรมาสที่ 2 ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อดูแลรักษาอย่างทันท่วงที
อายุครรภ์ ไตรมาสที่ 3 (28 - 40 สัปดาห์)

เป็นอายุครรภ์ระยะใกล้คลอด ดังนั้นคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตตนเองให้มากขึ้น เพราะภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญในระยะนี้ คือ

*ภาวะที่ 4 เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด ภาวะนี้จะพบได้ประมาณ 10%-15% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด อาการเริ่มต้นที่พบส่วนใหญ่ คือ ท้องแข็งถี่อย่างน้อย 8 รอบต่อชั่วโมง บางรายอาจมีน้ำหรือเลือดออกจากช่องคลอดร่วมด้วย ดังนั้นหากคุณแม่มีอาการดังกล่าวต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการยับยั้งการเจ็บครรภ์และยืดระยะการตั้งครรภ์ให้ยาวนานที่สุด

*ภาวะที่ 5 ครรภ์เป็นพิษ หรือความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายและอาจทำให้คุณแม่เกิดอาการชักหรือเสียชีวิตได้ กลุ่มเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ที่เคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน โรคอ้วน มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับระบบหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไตบางชนิด เป็นต้น อาการเริ่มต้นที่พบบ่อย คือ อาการปวดศีรษะซึ่งสัมพันธ์กับความดันโลหิตที่สูงขึ้น บางรายอาจมีอาการตามัว หรือจุกแน่นใต้ลิ้นปี่ ในคุณแม่ที่มีความเสี่ยงแนะนำให้รีบฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ เนื่องจากกระบวนการดูแลปัจจุบันมีการให้ยาป้องกันและลดโอกาสการเกิดครรภ์เป็นพิษ สำหรับคุณแม่ที่ไม่มีความเสี่ยง แนะนำให้หมั่นสังเกตอาการ หากมีอาการปวดศีรษะ และมีการวัดความดันโลหิตเมื่อสงสัยว่ามีอาการ ว่าความดันโลหิตตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 หรือความดันโลหิตตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 ต้องรีบไปพบแพทย์

ทั้ง 5 ภาวะอาจจะน่ากลัวและรุนแรง แต่ถ้าเริ่มต้นฝากครรภ์ตั้งแต่ไตรมาสแรกและฝากครรภ์สม่ำเสมอ รวมทั้งหมั่นสังเกตอาการผิดปกติขณะตั้งครรภ์จะช่วยให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและให้การดูแลรักษาได้อย่างทันท่วงที ขอให้คุณแม่มีความสุขกับการตั้งครรภ์และมีอาการแพ้ท้องที่ไม่รุนแรง

เครดิตแหล่งข้อมูล : babylove


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์