‎เมื่อลูกถูกรังแก‬

‎เมื่อลูกถูกรังแก‬

ปัจจุบันสถานการณ์จากการสำรวจพบว่าเด็กถูกรังแกกันมากขึ้น รุนแรงขึ้น มีวิธีการที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะ social media bully คือการถูกรังแกทางfacebookหรือline ซึ่งพบเยอะในเด็กวัยรุ่น หรือตามข่าวเมืองนอกที่เด็กที่เคยถูกรังแกลุกขึ้นมายิงเพื่อน เมื่อโดนรังแกเด็กๆหลายคนไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ ไม่รู้จะจัดการอย่างไร เก็บสั่งสมปัญหาไว้กับตัว หลายครั้งคุณครูก็ไม่ทราบว่าควรจัดการอย่างไร หลายครั้งคุณพ่อคุณแม่ไม่รู้ว่าลูกถูกรังแก เพราะลูกไม่พูดแต่อาจแสดงออกด้วยพฤติกรรมงอแงไม่อยากไปโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ลงโทษซ้ำยิ่งทำให้จิตใจเด็กซึมเศร้ากว่าเดิมแนวทางง่ายๆเบื้องต้น

     1. การป้องกันคือหนทางที่ดีที่สุด การใส่ใจเรื่องทักษะทางสังคมของลูกเป็นสิ่งสำคัญ จากสถิติพบว่าเด็กที่ถูกรังแก หรือเป็นคนไปรังแกคนอื่นคือเด็กที่มีทักษะหรือพัฒนาการทางสังคมไม่ดีและเป็นเด็กที่มีทักษะการแก้ไขปัญหาไม่ดีนัก หากพบว่าลูกเริ่มอารมณ์ก้าวร้าวและพฤติกรรมก้าวร้าวแต่เล็ก เป็นสัญญาณเตือนว่าต้องรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หากลูกดูเข้าสังคมไม่เก่ง ดูไม่มั่นใจ ขี้กังวล อ่อนไหวง่าย ยิ่งต้องใส่ใจการฝึกฝน การสร้างโอกาสให้ลูกได้ฝึกการแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือตนเองในขณะที่ลูกยังอยู่ในสายตาเราได้ โดยเฉพาะลูกคนเดียวที่มีคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายคอยเลี้ยงอย่างประคบประหงม อาจส่งผลให้ลูกมีความยากลำบากในการปรับตัวที่โรงเรียน ฝึกความเคยชินในการมีช่วงเวลาที่เรารับฟังลูก อ่านนิทานที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องก็เป็นหนทางในการสอดแทรกวิธีแก้ปัญหากับลูกเล็กได้

     2. สัญญาณเตือนว่าลูกกำลังถูกรังแก คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกต หากลูกมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เช่นเดิมเคยชอบไปโรงเรียนแล้วร้องไห้ไม่อยากไปเรียน ซึมลง แยกตัว อารมณ์หงุดหงิดง่ายขึ้น มีปัญหาการนอน หรือสมาธิทั้งๆที่เดิมไม่เคยมี มีท่าทีกลัวเวลาไปโรงเรียนหรือร้องไห้เมื่อถามถึงเพื่อน คุณพ่อคุณแม่ลองหาเวลาที่เหมาะสม เมื่อเด็กผ่อนคลาย อยู่ตามลำพัง ไม่ต้องรีบร้อนหรือกดดัน ไม่ใส่อารมณ์ ค่อยๆชวนคุย สะท้อนให้ลูกรับรู้ว่าเราเข้าใจอารมณ์ เด็กอาจจะมีความกลัว ความโกรธ หรือความอาย สำคัญมากที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังอารมณ์ตัวเอง สงบไม่แสดงออกความโกรธ ไม่พอใจรุนแรง อาจต้องสื่อสารให้ลูกรู้ว่าเราจะไม่ทำให้เรื่องแย่ลง แต่ไม่ควรสัญญาว่าเราจะให้ทุกอย่างดีขึ้น อาจใช้การบอกว่าเราจะช่วยกันหาทางออกและแก้ไขไปด้วยกัน อาจเล่าเรื่องประสบการณ์คนอื่นๆให้ลูกรู้ว่าไม่ได้เกิดกับตนเองคนเดียว พึงระวังว่าเด็กอาจเล่าสิ่งที่เกินกว่าความเป็นจริง อาจใช้วิธีการช่วยกันระดมสมอง ช่วยกันวิเคราะห์สถานการณ์และทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน หากลูกยังเล็กอาจใช้กันสื่อสารผ่านนิทานหรือpuppet


‎เมื่อลูกถูกรังแก‬

     3. พฤติกรรมการรังแกในทางจิตวิทยา คือการแสดงออกเรื่องอำนาจและการควบคุม เด็กที่ถูกรังแกจึงมักเป็นเด็กตัวเล็ก ขี้อาย ขี้กลัว การแก้ไขปัญหาทั้งที่บ้านและในห้องเรียน จึงจำเป็นที่จะต้องให้เด็กเข้าใจความเท่าเทียม การแสดงอำนาจมากของคุณพ่อคุณแม่ต่อลูกหรือความไม่เท่า-เทียมกันของลูกแต่ละคนก็สร้างความเสี่ยงให้ลูกเข้าใจว่าตัวเองด้อยกว่า อ่อนแอกว่าคนอื่นจึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้บทบาทการเป็นโค้ชมากกว่าผู้สั่งการหรือผู้ปกป้องจึงจะช่วยลูกได้ผลการฝึกบทสนทนาสถานการณ์แบบrole play ซ้ำๆก็จะช่วยให้ลูกมั่นใจในการกลับไปแก้ไขปัญหาด้วยตนเองมากขึ้น

     4. ข้อควรระวัง หากเป็นการรังแกกันที่รุนแรง จำเป็นต้องมีการสื่อสารที่โรงเรียน เด็กที่ถูกรังแกส่วนใหญ่ ไม่ต้องการให้คุณพ่อคุณแม่ป่าวประกาศเป็นเรื่องใหญ่โตหรืออาละวาดที่โรงเรียน เพราะเด็กก็จะยิ่งกลัวหรืออับอายมากขึ้น จึงควรจัดการด้วยความใจเย็น

‪#‎อย่ารอแก้เมื่อสายไป‬
‪#‎หมอเจ‬


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์