เราก็ถูกตีมา คิดว่าไม่น่าเป็นอะไร แต่...

เราก็ถูกตีมา คิดว่าไม่น่าเป็นอะไร แต่...

วันนี้ป้อมวัย 5 ปีกว่ามาหาหมอเพราะมีปัญหาการควบคุมอารมณ์....

ในแต่ละวันของแม่ลูก 3 เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงและรีบร้อน
คุณแม่จึงไม่มีโอกาสคิดอย่างลึกซึ้งว่า เพราะอะไรการตีถึงไม่ช่วยอะไรมากนัก แล้ววันหนึ่ง...คุณแม่ก็เริ่มสังเกตว่า

แม้ป้อมจะหยุดพฤติกรรมต่อต้านตอนโดนแม่ตี แต่แม่ก็สงสัยว่าทำไมป้อมถึงไม่เรียนรู้ที่จะเชื่อฟังง่ายๆเอง และแม่ก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า....เราจะตีไปถึงเมื่อไร?

คุณแม่จึงเรียกลูกสาวมาเปิดอกคุยกัน
แม่ถามลูกด้วยเสียงอ่อนโยนว่า "หนูไม่ชอบที่แม่ตีใช่มั๊ยคะ?"
ป้อมมองหน้าแม่ สายตาเศร้าและพยักหน้า

แม่ "หนูจำได้มั๊ยว่าแม่ตีเพราะอะไร"
ป้อมตอบ "แม่ตีหนูที่แขน แล้วก็ที่ก้น บางทีก็ที่มือ"
ชี้ไปที่แขน ที่ก้น และที่มือ
ป้อมจำตำแหน่งของการถูกตีได้แม่นยำ
ป้อมบอกแม่ว่า "หนูเจ็บตอนโดนแม่ตี"

แม่จึงถามลูกว่า "แม่ตีหนูเพราะอะไร หนูรู้มั๊ย"
ป้อมนั่งคิดอยู่สักครู่ สายตาว่างเปล่า แล้วป้อมก็ส่ายหน้า

ตั้งแต่วันนั้น แม่รู้แล้วว่า...
สิ่งที่แม่ทำลงไป ลูกจำได้แต่ความกลัว ตำแหน่งของความเจ็บปวด แต่ลูกจำสิ่งที่แม่ต้องการสอนไม่ได้!

เราส่วนใหญ่ทราบดีแล้วว่า....
การตีไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมในการใช้เลี้ยงลูก....
เพราะอะไร?

1. การตีส่วนใหญ่ ผู้ใหญ่มักมีอารมณ์ผสม ความน่ากลัวของสีหน้าและน้ำเสียงทำให้เด็กหยุดและยอมทำ
การตีที่ใช้อารมณ์ สอนเด็กทางอ้อมว่า เมื่อคุณต้องการเอาแต่ใจ คุณใช้อารมณ์ลงคนอื่นได้

2. การตีที่ไม่มีอารมณ์ มีที่ใช้หรือไม่?
ผู้ปกครองบางท่าน ตีโดยไม่มีอารมณ์โกรธเลย ด้วยเหตุผลอะไร

2.1 ตีเรียกสติ คุณพ่อท่านหนึ่งบอกหมอว่า "ตอนร้องไห้เขาโวยวายรุนแรงมาก ผมเลยตีไปที่ก้น เหมือนเรียกสติให้เขากลับมาสนใจผม"
หมอชื่นชมในความมีสติของคุณพ่อที่ไม่ลงมือแรงกับลูก แต่หมอก็ตั้งคำถามว่า แล้วที่เด็กกลับมาคืออารมณ์ "งง" ใช่หรือไม่? และเมื่อหันมาแล้วหาย "งง" เด็กจะร้องต่อหรือไม่?

หรือที่เขาเงียบเมื่อเราตีเขา อาจไม่ใช่เพราะ "งง" อาจเพราะกลัว เพราะเราเคยมีอารมณ์โมโหกับลูกมาก่อน แม้ว่าเราจะไม่เคยตีลูกก็ตาม แต่เราก็เคยตะคอกลูก เขาอาจไม่เจ็บตอนโดนตีแต่อาจกลัวไปก่อนว่าพ่อจะตะคอกใส่ก็ได้ ก็เลยหยุดร้อง

นั่นก็แปลว่า หยุดเพราะกลัวพ่อจะตะคอก โมโห

อีกประเด็นคือเราจะคอยอยู่เรียกสติกับเขาไปอีกกี่ที่ ไปที่โรงเรียนด้วยหรือไม่?

สิ่งที่อยากบอก คือ เมื่อเด็กมีอารมณ์ที่คุยกับใครไม่ได้แล้ว ขอโอกาสให้เขาเอาอารมณ์ลงเองเถอะ (self regulation) เราแค่เพียงรอ แม้ต้องใช้เวลานานก็ตาม เมื่อสงบพอคุยกันได้ ค่อยมาทำความเข้าใจกัน

แต่หากลูกก้าวร้าว เราก็ต้องไม่ให้ลูกตี ต้องจับมือไว้ หรือ ปาข้าวของ ก็ต้องหยิบของออกให้พ้นมือเขา...
ระลึกไว้ว่า ไม่มีใครอยากคุยกันตอนมีอารมณ์หรอก และการคุยช่วงนั้นก็มักให้ผลออกมาไม่ดี

2.2 บางท่านตีไม่ใช้อารมณ์ โดยเรียกมาคุย อธิบายและค่อยตีให้รู้ว่าเพราะอะไร?
จริงๆแล้ว แม้ว่าการตีนี้ไม่มีความรุนแรงทางอารมณ์ และไม่มีความเจ็บปวดทางร่างกาย แต่หมอก็มักถามผู้ปกครองว่า เราได้ทบทวนวิธีอื่นก่อนแล้วหรือไม่ เพราะหากเราใช้หลากหลายวิธีของเทคนิคการเลี้ยงลูกแล้ว เราจะไม่ต้องตีลูกเลย

และถ้าใครที่เคยใช้วิธีตีแบบนี้จริง เราจะเห็นว่า มันไม่ได้ผล เช่น คุณแม่ท่านหนึ่ง ตีลูกที่มือ 1 ทีเพราะชอบแย่งของน้อง ลูกไม่เจ็บ ไม่รู้สึกว่าแม่มีอารมณ์ ดังนั้น เมื่อลูกแย่งของน้องแล้ว ก็จะเดินมาให้แม่ตี ลูกไม่เรียนรู้ว่า แย่งของไม่ได้ แต่เรียนรู้ที่จะทำตามขั้นตอนที่แม่จัดให้ และตนเองจะได้ของน้องอย่างที่ต้องการ

ส่วนคนที่ใช้ได้ผล หมอคิดว่า มีการใช้อารมณ์ปนอยู่ไม่มากก็น้อย หรือแม้ตอนนั้นที่เราตีอาจไม่มีอารมณ์ แต่ทุนเดิมที่ลูกจำได้ก็คือ เราเป็นคนมีอารมณ์พร้อมระเบิด ดังนั้น ลูกอาจหยุดเพราะกังวลล่วงหน้าว่าหากไม่เชื่อ อาจโดนแม่โมโห

วันนี้คุณแม่ของป้อมจึงมาเรียนรู้การเลี้ยงลูกด้วยเทคนิคเชิงบวก เพื่อที่ว่า เมื่อเราไม่ใช้การตีเลี้ยงลูกแล้ว....
เราก็ต้องมีอาวุธอื่นเพื่อรับมือ แต่เป็นอาวุธเชิงบวกที่ไม่ตามใจ
ลูกเข้าใจว่าผิดอะไร ควรทำอะไรและพ่อแม่ก็ได้ใจลูกด้วย....


ที่มา #หมอเสาวภาเลี้ยงลูกเชิงบวกทุกคนทำได้
หนังสือ "ปราบลูกดื้อ รับมือลูกกินยาก"
เครดิตภาพhttp://cdn.metroparent.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์