เมื่อหนูกำลังจะมีน้อง‬

เมื่อหนูกำลังจะมีน้อง‬

เรื่องหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่มักจะส่งคำถามมาหาหมอบ่อย ๆ ก็คือ เรื่องของพี่ๆน้อง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องทะเลาะกัน พี่อิจฉาน้อง น้องแกล้งพี่ ฯลฯ พ่อแม่ก็เลยปวดหัวกันบ่อย ๆ เป็นรสชาติของชีวิตครอบครัวที่บางครั้งก็ออกจะเป็นรสเปรี้ยวจี๊ดไปนิด

เมื่อเริ่มชีวิตครอบครัวจริง ๆ ก็เหมือนเรื่องปกติมีลูกคนแรกแล้วก็มีลูกคนต่อๆมาแต่เรื่องปกตินี้ก็อาจจะเป็นเรื่องปวดหัวหน่อยๆของพ่อแม่ได้ ถ้าไม่ได้เตรียมพร้อมอะไรสักนิดสักหน่อยก่อนที่น้องหนูอีกคนจะลืมตามาดูโลก ถ้าจะให้ดีพ่อแม่ควรเว้นช่วงลูกคนที่สองห่างจากคนแรกประมาณ 3 ปี เพื่อที่แม่และผู้เลี้ยงจะได้ไม่เหนื่อยเกินไปนัก และสามารถแบ่งเวลาการดูแลเด็ก ๆ ได้อย่างไม่ลำบากเกินไปและลูกคนโตก็โตพอเข้าใจอะไรได้มากขึ้น พอจะช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง

ถ้ามีลูกติดๆกัน นึกภาพลูกคนนึ่งเพิ่งเริ่มเดินได้ซนได้ที่ อีกคนเพิ่งคลอดแม่ต้องคอยป้อนนมเปลี่ยนผ้าอ้อมและต้องคอยจับลูกคนโตที่วิ่งซน คุณแม่จะไม่เหนื่อยยังไงไหวพอเหนื่อยแล้วอาจทำให้อารมณ์ก็ไม่ดี บางทีก็อาจจะพาลอารมณ์ไม่ดีกับลูกคนโต เด็กก็อาจไม่เข้าใจ และอาจจะกลายเป็นปัญหาไม่รักหรืออิจฉาน้องตามมาได้แต่ถ้าบังเอิญมีลูกติดกันหน่อย พยายามหาตัวช่วยให้มีคนมาช่วยๆกันเลี้ยง แม่ก็จะได้พักผ่อนและมีเวลาไปดูลูกอีกคนจะได้ไม่รู้สึกว่า แม่ไม่ให้ความสนใจตัวเองเหมือนเดิมเมื่อมีน้อง

ในช่วงที่แม่กำลังตั้งครรภ์น้องอยู่ก็บอกลูกคนโตสักหน่อยค่ะ ให้เขาได้รับรู้ว่าอีกไม่กี่เดือนเขากำลังจะมีน้องเล็ก ๆ ซึ่งน้องคนนี้เป็นน้องของเขา เขาจะได้รู้สึกถึงความเป็นพี่ที่ต้องช่วยแม่ดูแลน้อง ลองให้เขาสัมผัสและรู้สึกถึงน้องในท้อง เช่น จับที่ท้องแม่เวลาน้องเตะ ค่อยๆให้เขารับรู้ ตามความเข้าใจเด็กว่าตอนนี้น้องอยู่ในท้องแม่ บอกเขาก็เคยอยู่ในท้องแม่แบบนี้เหมือนกัน และแม่ก็ดูแลเขาตอนที่อยู่ในท้องแม่เหมือนกับที่ทำกับน้องนี้แหละ

เทคนิคหนึ่ง คือ อาจใช้นิทานเล่าเรื่องการมีน้องอีกคน นิทานจะมีรูปประกอบให้เห็นชัดเจน รวมถึงเรื่องราวที่สนุกสนาน จะทำให้เด็กๆสนใจและเข้าใจง่ายขึ้น ให้เด็กมีโอกาสรับรู้การเตรียมตัวของพ่อแม่สำหรับน้องที่จะเกิดมา เช่น พาเขาไปด้วยเวลาไปซื้อของใช้เด็กอ่อน ให้เขาได้ช่วยเลือกเท่าที่ได้ ของเล็กๆน้อยๆ เช่น เลือกสีเสื้อผ้า สีถุงเท้า ของเล่น เวลาตั้งชื่อน้องที่จะเกิดมา ก็ให้เขาอยู่ด้วย เขาจะรู้สึกถึงความเป็นพี่

แล้วเมื่อถึงเวลาที่น้องเกิดมา บางทีพี่ก็อาจจะมีปฏิกริยาบ้าง เพราะเขาก็จะรู้สึกว่าเขาต้องถูกแบ่งความรักเอาใจใส่ของพ่อแม่ไปให้น้อง ก็ให้สังเกต และพยายามให้ความสนใจ เอาใจใส่เด็ก ตามสมควร ถ้าแม่ต้องดูน้อง ก็ให้พ่อมาดูพี่ และเมื่อแม่มีเวลา ก็ให้ใช้เวลากับพี่ แสดงความรัก กอด หอมแก้ม แต่ต้องระวังว่า ไม่ใช่ชดเชยด้วยการตามใจให้สิ่งของ

หมอมินบานเย็น‬


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์