เมื่อลูกเข้าข่ายเป็น “โรคอ้วน”

เมื่อลูกเข้าข่ายเป็น “โรคอ้วน”

อย่าคิดว่าลูกอ้วนท้วนเป็นเด็กน่ารัก ควรจะให้ลูกมีน้ำหนักและส่วนสูงที่อยู่ในเกณฑ์ปกติจะดีกว่า เด็กอ้วนจ้ำหม่ำใครพบเห็นก็เอ็นดูและหมั่นเขี้ยวด้วยกันทั้งนั้น แต่หารู้ไม่ว่าเด็กจ้ำหม่ำเหล่านั้นกำลังตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน และเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บอีกจำนวนมากที่ชื่นชอบเจ้าความอ้วนยิ่งนัก

ตัวเลขจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เคยสำรวจและประมาณการเกี่ยวกับสัดส่วนของเด็กไทยที่อาจจะเข้าสู่สภาวะเป็นเด็กอ้วนไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2558 เด็กก่อนวัยเรียนในประเทศไทยจะกลายเป็นเด็กอ้วนในสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 5 นั่นหมายความว่า ในเด็ก 5 คน จะมีเด็กอ้วน 1 คน และเด็กวัยเรียนจะมีสัดส่วนของเด็กอ้วนอยู่ที่ 1 ใน 10 และจากอุบัติการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โรคอ้วนในเด็กไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และตามสถิติอาจสรุปได้ว่า เป็นประเทศที่มีการเพิ่มจำนวนเด็กอ้วนเร็วที่สุดในโลก มีรายงานว่า เฉพาะช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กก่อนวัยเรียนอ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 และเด็กวัยเรียนอายุ 6-13 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5

ดร.จอห์น รีลลี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอ้วนในเด็ก มหาวิทยาลัยกลาสโกว ในสก็อตแลนด์ ศึกษาวิจัยพบว่า เด็กที่มีปัญหาโรคอ้วนนั้นมักจะฉายแววมาตั้งแต่อายุยังน้อย โดยสัญญาณเตือนภัยที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่อ้วนมีข้อน่าสังเกตอยู่ 6 ประการ ดังนี้
    1. น้ำหนักแรกเกิดมาก คุณพ่อคุณแม่ที่นิยมชมชอบให้ทารกน้อยคลอดออกมามีน้ำหนักตัวมากๆ คงต้องทำความเข้าใจใหม่กันใหม่ เพราะยิ่งทารกมีน้ำหนักแรกคลอดมากเท่าไรยิ่งเสี่ยงเป็นเด็กอ้วนมากเท่านั้น ฉะนั้น ขอให้น้ำหนักของลูกได้มาตราฐาน และคุณพ่อคุณแม่ก็เลี้ยงดูอย่างถูกวิธี รวมถึงเรื่องของโภชนาการย่อมดีกว่า

   2.ตัวโตกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 2 ขวบปีแรก ความเข้าใจที่ว่าลูกโตกว่ารุ่นเดียวกัน เพราะพ่อแม่เลี้ยงดี หรือทำให้เข้าใจว่าเป็นครอบครัวที่มีอันจะกิน เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะการเลี้ยงลูกให้มีร่างกายสมส่วน น่ารักสมวัย และร่างกายแข็งแรงมักดีกว่าเป็นไหนๆ

   3.เด็กมีระดับไขมันในร่างกายสูงตั้งแต่เล็ก เรื่องของระดับไขมันสูง เมื่อก่อนมักเกิดกับผู้ใหญ่ หรือกลุ่มผู้สูงวัย แต่เดี๋ยวนี้สถิติที่น่าตกใจก็คือ ระดับไขมันในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น สัมพันธ์กับอายุของคนเราที่มีแนวโน้มไขมันสูงขึ้นในกลุ่มคนอายุน้อยลงเรื่อยๆ

   4.พ่อหรือแม่เป็นโรคอ้วน  ถ้าประสบปัญหานี้ก็ต้องทำใจเพราะเป็นเรื่องของพันธุกรรม แต่ในเมื่อรู้ว่าลูกเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคอ้วน ก็ควรจะดูแลเรื่องอาหารการกิน และวิถีการใช้ชีวิตของลูกให้มากเป็นพิเศษตั้งแต่เล็ก

   5.เด็กดูทีวีมากเกินไป สัปดาห์ละ 8 ชั่วโมงขึ้นไป เด็กกลุ่มนี้นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น เพราะระหว่างที่เด็กดูทีวีก็มักจะติดขนมขบเคี้ยวไปด้วย อีกทั้งพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้เด็กๆ ไม่ได้ออกกำลังกาย ก็ย่อมทำให้เด็กอ้วน

   6.นอนหลับน้อยกว่า 10 ชั่วโมงครึ่งต่อคืน โอกาสที่เด็กนอนเก่ง กินเก่ง ทั้งหลายจะกลายเป็นเด็กอ้วนก็มีเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากขึ้นด้วยเช่นกัน



เมื่อลูกเข้าข่ายเป็น “โรคอ้วน”

   พฤติกรรมแบบไหนของพ่อแม่ที่ทำให้ลูกอ้วน 

   1.ลูกอ้วนตอนเด็กไม่เป็นไร เริ่มจากวิธีคิดของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ชอบให้ลูกอ้วน เพราะจ้ำม่ำน่ารักดี และคิดว่าตอนเด็ก ๆอ้วนไม่เป็นไรหรอก พอเด็กโตขึ้นก็อยากผอมเอง ในอดีตอาจจะใช่ เพราะสภาพสังคมยังไม่กระตุกต่อมเร้าขนาดนี้ แต่ปัจจุบัน เด็กอ้วนเมื่อตอนเด็ก จะมีลักษณะนิสัยการกินที่ไม่เหมาะสมจนกลายเป็นนิสัย ฉะนั้นจะรอให้โตแล้วค่อยมาลดน้ำหนัก ก็ดูจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ใจร้าย เพราะเหมือนสร้างปัญหาให้ลูก แล้วให้ลูกไปช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองตอนโตซะงั้น

   2.ไม่กล้าขัดใจลูก พ่อแม่ประเภทนี้เยอะ กลัวลูกไม่รัก หรือตามใจลูกจนเคยตัวซะแล้ว ลูกอยากกินอะไร เวลาไหนก็ไม่ขัด หรือเพราะกลัวลูกหิว พ่อแม่ประเภทนี้ก็ถือว่าใจร้ายกับลูกเช่นกัน เพราะนอกจากจะทำให้ลูกมีแนวโน้มอ้วนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อนิสัยและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในเรื่องอื่นๆ อีกด้วย

   3.เลือกกินอาหารอร่อยมากกว่ามีประโยชน์ ข้อนี้ก็น่าหนักใจเพราะปัจจุบันอย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่เองก็เหมือนกันที่ชอบเสาะแสวงหาของกินที่อร่อย ไม่ว่าจะไกลสักแค่ไหน แพงแค่ไหน ขอให้อร่อยก็ดั้นด้นที่จะไปกินให้ได้ ด้วยพฤติกรรมเหล่านี้ก็ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองมักจะซื้ออาหารอร่อยให้ลูกมากกว่าที่จะคำนึงถึงประโยชน์ของอาหารเช่นกัน สุดท้ายลูกก็ติดรสชาติอร่อย และไม่คำนึงถึงประโยชน์

   4.ชอบกินอาหารนอกบ้าน ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ที่ชอบกินอาหารนอกบ้าน และชอบพาลูกไปกินด้วยบ่อยๆ รับประกันว่าเขาจะติดใจในรสชาติอาหาร เพราะบรรดาร้านอาหารต่างๆ เขาก็ต้องปรุงรสชาติเอาใจผู้บริโภคอยู่แล้ว ประเภทใส่เครื่องปรุงรสสุดฤทธิ์ อาหารที่เต็มไปด้วยไขมันและพลังงาน หรือรสจัด สุดท้ายก็จะไม่ชอบกินอาหารในบ้าน ทั้งที่การกินอาหารในบ้าน เราสามารถควบคุมความสะอาด โภชนาการที่ดี และใส่ความรักลงไปด้วย แต่เด็กที่ติดรสชาติหวานมันนอกบ้านแล้ว ก็จะติดนอกบ้าน ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเขาใส่อะไรลงไปในอาหารมากน้อยขนาดไหน สะอาดหรือไม่ หรือใส่สารปรุงแต่งอะไรแค่ไหน ที่สำคัญราคาอาหารนอกบ้านก็แพงกว่าทำเองอีกต่างหาก

   5.ไม่ชวนลูกออกกำลังกายข้อนี้ดูเหมือนไม่ใช่เฉพาะลูกซะแล้ว พ่อแม่ก็ไม่ชอบออกกำลังกายเช่นกัน ก็ยิ่งไม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก ทางที่ดี พ่อแม่ต้องใจแข็งและพยายามชวนลูกไปออกกำลังกายร่วมกัน ทำให้เป็นกิจกรรมร่วมกันของครอบครัวที่ทำเป็นประจำ ถ้าทำตั้งแต่ลูกเล็กๆ เขาก็จะติดเป็นนิสัย เมื่อโตขึ้นก็อยากออกกำลังกาย

   6.ปล่อยลูกไว้กับสมาร์ทโฟนเด็กยุคนี้ติดเกม ติดสมาร์ทโฟน กลายเป็นเด็กก้มหน้ากันหมด วันๆ ก็ได้แต่ก้มหน้าก้มตาอยู่กับสมาร์ทโฟนหรือหน้าเครื่องคอมฯ แทบจะไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เข้าข่ายกินแล้วก็นั่งๆ นอนๆ อยู่กับเจ้าเครื่องเทคโนโลยี แล้วถ้าพ่อแม่ไม่กำหนดกฎเกณฑ์กติกาภายในบ้าน ก็รับประกันความอ้วนได้เลย

   7.ไม่เคยปล่อยให้ลูกหิวสำหรับบางครอบครัวก็น่ากังวลใจไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ชนชั้นกลาง เพราะพ่อแม่ยุคนี้ทะนุถนอมลูกเหลือหลาย ถึงเวลากินข้าวก็จะต้องตามจิกมากิน เรียกว่าในวันหนึ่งมี 3 มื้อ แต่ลูกอาจได้กิน 4-5 มื้อ ยังไม่นับรวมขนมขบเคี้ยว ขนมหวานมากมาย ลูกคุ้นชินกับการกินและท้องอิ่มตลอดเวลา เด็กบางคนไม่ทันได้หิว หรือไม่เรียนรู้จักความหิวเลย ก็ทำให้กินตลอด ว่างเป็นกิน ไม่หิวก็กิน กินเพราะอยาก ไม่ใช่กินเพราะหิว

คุณพ่อคุณแม่โปรดจำไว้ว่า โรคอ้วน เบาหวานและโรคหัวใจ สามารถเกิดกับเด็กเล็กได้ หากลูกน้อยมีน้ำหนักตัวที่มากจนผิดปกติและที่สำคัญอย่าลืมว่าระบบย่อยของเด็กเล็กนั้นยังไม่สมบูรณ์ดี การให้ลูกน้อยทานอาหารอะไรที่นอกเหนือจากนมแม่อาจจะทำให้ย่อยยากหรือย่อยไม่ได้  เด็กจะอาเจียนหรือท้องเสียได้ง่าย บางรายเด็กจะมีอาการท้องผูกและลุกลามไปถึงลำไส้อักเสบหรืออุดตันได้อีกด้วย


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์