เมื่อลูกน้อยอาละวาดบ้านแตก

เมื่อลูกน้อยอาละวาดบ้านแตก

เด็กในช่วงอายุ 1-3 ปี บางคนเรียกเด็กวัยนี้ว่า “วัยต่อต้าน” เพราะเมื่อเด็กวัยนี้รู้สึกคับข้องใจ โกรธ หรือผิดหวัง พวกเขามักแสดงออกโดยการร้องไห้ แผดเสียง หรือกระทืบเท้าไปมา ซึ่งบางครั้งทำให้ผู้ปกครองรู้สึกโกรธ หรืออับอาย และเหนื่อยใจไปตามๆ กัน อย่างไรก็ตาม การร้องอาละวาดเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการเด็กเพื่อที่จะเรียนรู้การควบคุมตนเอง และในความเป็นจริงเด็กเกือบทุกคนต้องมีภาวะนี้บ้างไม่มากก็น้อย
        พญ.สินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การแสดงออกเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการของเด็กวัยนี้ที่พ่อแม่ต้องเข้าใจ เด็กจะเริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเอง อยากรู้อยากเห็นในสิ่งแวดล้อมซึ่งแปลกใหม่บนโลกใบนี้ เด็กมีความต้องการที่จะควบคุมทุกอย่าง ต้องการเป็นอิสระและพยายามที่จะทำอะไรที่เกินความสามารถของตนเอง ต้องการจะตัดสินใจเองและไม่อาจจะควบคุมตัวเองได้ดี พอยิ่งถ้าเขาเหนื่อย หิว หงุดหงิดหรือกลัวด้วยแล้ว เขาก็ยังไม่สามารถที่จะจัดการตัวเองได้  ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ตัวเองเป็นเรื่องยากสำหรับเขา การร้องอาละวาด จึงเป็นหนทางในการปลดปล่อยอารมณ์ของเด็ก แต่อาการเหล่านี้มักหยุดไปเองหลังอายุ 4 ปี

มีงานวิจัยบอกว่า พ่อแม่ที่ดุสม่ำเสมอ เป็นกลุ่มที่มีวินัยเข้นข้นเกินเหตุ ก็สามารถเลี้ยงลูกให้ดีได้ โดยเฉพาะกรณีลูกของเขาเป็นแบบที่ดื้อดึง ยืนยันโดยกำเนิด จะเป็นคู่ที่เกิดมาเพื่อกันและกัน ลูกจะได้ดิบได้ดีพอประมาณ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่หันไปใช้วิธีอ่อนโยน นุ่มนวลกับลูก ปรับพฤติกรรมไปเรื่อย ๆ แล้วคอยชมเป็นระยะ ๆ เด็กคนนี้จะได้ดีและมีความภาคภูมิใจในตัวเองสูงด้วย

กลุ่มที่เลวร้ายที่สุดคือ พ่อแม่เกิดมาแปรปรวนรวนเรทางอารมณ์ตลอดเวลา วันจันทร์พ่อแม่เครียดมาก ลูกขออะไรไม่ได้ทุกเรื่อง แต่พอวันศุกร์เกิดรู้สึกผิด ลูกอยากได้อะไรให้หมดทุกเรื่อง จันทร์ถึงศุกร์อารมณ์หลากหลาย รับรองได้ว่าพ่อแม่กลุ่มนี้เลี้ยงลูกแล้วจะเป็นดาวกรี๊ด

     วิธีจัดการกับเด็กเอาแต่ใจ

     1. คุณจะต้องแก้ที่รากฐาน ดูว่าในบ้านใครเป็นคนตามใจบ้าง คุณจะมีโอกาสคุยกับคุณพ่อคุณแม่ของเด็กไหม เพราะถ้าไปคนละทิศละทาง เช่น คุณย่าตามใจเยอะ และมีอำนาจที่สุดในบ้าน แถมยังมีอิทธิพลด้วย พ่อแม่ไม่กล้าขัดใจ สุดท้ายเด็กก็เสียค่ะ เพราะฉะนั้นอยู่ที่ระดับผู้ใหญ่จะต้องคุยกันระหว่าง พ่อ แม่ คุณย่า พี่เลี้ยง ว่าหากเลี้ยงไปในทิศทางของการ ตามใจจะยิ่งทำให้เด็กอารมณ์ร้อน และไม่ยั้งตัวเอง ส่งผลให้เด็กอยู่ร่วมกับคนอื่นลำบากในอนาคต จึงต้องค่อยๆ ลดการตามใจลงจาก 100 เหลือ 80 หรือ 60 เป็นต้น ถ้าจะไม่ให้ตามใจเลยคงทำได้ยาก ผู้ใหญ่ก็ทำใจยาก

     2. ขณะที่เด็กกำลังอาละวาด แกก็หวังว่าจะได้รับความสนใจ เพราะฉะนั้นวิธีการคือ ไม่ให้ความสนใจเล เดินออกมา ปล่อยให้อาละวาดไปสักระยะหนึ่ง ให้เด็กเรียนรู้ว่าทำแล้วไม่เกิดผล พอแกเริ่มเหนื่อยแล้ว คุณค่อยเข้าไปชี้ชวนเพื่อเบี่ยงเบนให้เด็กหันไปสนใจสิ่งอื่น วิธีนี้มักใช้ได้ผลแต่ถ้าเข้าไปแล้วเด็กยิ่งอาละวาดมากขึ้น คุณต้องถอยออกมาก่อนค่ะ ไม่ควรพูดแดกดันหรือพูดด้วยความโกรธ ขู่ว่าจะทิ้ง เพียงแต่พูดว่าหนูยังโกรธอยู่ แม่เข้าใจว่าหนูอยากได้ของสิ่งนั้น แต่ให้ไม่ได้จริงๆ แล้วจึงเดินออกมา

     3. เด็กไม่ได้อาละวาดตลอดเวลา ฉะนั้นขณะที่เด็กทำพฤติกรรมดี คุณสามารถฝึกให้ยั้งอารมณ์ หัดช่วยตัวเองและใจเย็นๆ การฝึกแบบนี้ต้องหมั่นชมเชย  อาศัยที่เด็กบ้ายอและอยากทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ชอบ พฤติกรรมที่ดีของเด็กจะพัฒนาเพิ่มมากขึ้นๆ ไม่ใช่ทำดีทั้งวันไม่มีใครชม แต่พออาละวาดทีหนึ่งทุกคนเข้ามาให้ความสนใจไปหมด พฤติกรรมที่ไม่ดีก็จะเพิ่มขึ้นและไม่หายสักที

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือให้เราเริ่มสอนตั้งแต่ลูกอายุยังน้อย และทำอย่างสม่ำเสมอ เข้าใจความต้องการและรู้พัฒนาการของลูกอย่างละเอียดอ่อนโดยให้อยู่ภายในขอบเขตที่เหมาะสม


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์