เด็กแรกเกิดควรกินน้ำหรือเปล่า

เด็กแรกเกิดควรกินน้ำหรือเปล่า

ทารกแรกเกิด (neonate) หมายถึงทารกที่มีอายุ 30 วันแรกหลังคลอด เป็นระยะที่ทารกมีการปรับตัวเพื่อให้มีชีวิตอยู่ในสภาพนอกครรภ์มารดาได้ภายหลังคลอด  ในทารกแรกคลอดยังมีการเจริญเติบโต (growth) และพัฒนาการ (development) ที่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ นอกจากนี้ยังมีการปรับตัวของระบบอวัยวะอื่นๆ ได้แก่ระบบทางเดินอาหาร ระบบขับถ่าย และระบบภูมิคุ้มกัน ให้มีการพัฒนา เจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะแข็งแรงสมบูรณ์

ทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลือง จะป้อนน้ำ หรือป้อนนมน้ำแม่ ?

มีเรื่องเล่าจากสมาชิกห้องคนท้องคุยกัน  ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นอุทาหรณ์เตือนใจกับหลายๆ ครอบครัวที่มีลูกแรกคลอดได้เป็นอย่างดี นั่นคือเด็กที่เพิ่งคลอดได้เพียง 1 วัน แต่มีภาวะตัวเหลือง และด้วยความหวังดีจากคุณย่าและคุณพ่อของเด็กแอบป้อนน้ำให้กิน เด็กเกิดสำลักน้ำและชัก สุดท้ายช่วยไม่ทันเพราะสมองตาย (ข้อมูลส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์จริง)

จากเหตุการณ์นี้มาดูกันว่าถ้าเด็กแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลืองจะรักษาอย่างไร การรักษาทารกตัวเหลืองนั้น ต้องรักษาตามสาเหตุเป็นหลัก ร่วมกับการลดระดับบิลิรูบินลง ด้วยการส่องไฟรักษาเพื่อกำจัดบิลิรูบินออกจากร่างกาย หรือรักษาด้วยการเปลี่ยนถ่ายเลือดในกรณีที่ระดับบิลิรูบินสูงมาก ส่วนทารกตัวเหลืองจากนมแม่ ควรให้ดูดนมแม่ให้มากที่สุด ให้ถ่ายอุจจาระบ่อยที่สุด เพื่อช่วยขับสารเหลืองออกทางลำไส้ให้เร็วที่สุด ซึ่งกระบวนการรักษาไม่มีระบุว่าภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดต้องให้ดื่มน้ำ

เพราะอะไรเด็กทารกแรกเกิดแค่กินน้ำนมแม่ก็พอแล้ว

 

ในช่วงเด็กแรกเกิด – 6 เดือนแรกของชีวิต คุณหมอและผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการจะแนะว่าให้ลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว อย่าเพิ่งป้อนน้ำ และป้อนอาหารเด็ดขาด นั่นเพราะระบบลำไส้ ระบบการย่อยของลูกยังเคลื่อนตัวและทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ยังไม่มีแรงขับย่อยอาหารอื่นที่นอกเหนือจากน้ำนมแม่ ทีนี้หลายคนยังสงสัยว่าแค่นมแม่อย่างเดียวลูกจะได้รับสารอาหารที่เพียงพอหรือเปล่า


เด็กแรกเกิดควรกินน้ำหรือเปล่า

น้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันและสารอาหารที่สำคัญอะไรบ้าง

โดยธรรมชาติของผู้หญิงในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ร่างกายจะเริ่มกระบวนการสร้างน้ำนมไว้อยู่ก่อนแล้ว พอหลังจากที่คลอดลูกออกมาน้ำนมแม่จะเริ่มมีและให้ลูกทานได้ทันที น้ำนมแม่จึงเป็นอาหารที่ดีที่สุดกับร่างกายของลูก ในน้ำนมแม่ประกอบไปด้วยสารอาหารและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์กับสุขภาพร่างกายของลูกอย่างมาก น้ำนมแม่ถือเป็น “น้ำ” ที่มีสารอาหารเป็นส่วนประกอบ ไปดูกันว่าในน้ำนมแม่มีส่วนประกอบที่สำคัญกับร่างกายของลูกอย่างไร

      โปรตีน ในน้ำนมมีสองชนิดคือเวย์(Whey) และเคซีน(Casein) เวย์เป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย เหมาะกับการทำงานของกระเพาะอาหารเด็กแรกเกิด

      น้ำตาลแล็กโตส(Lactose) เมื่อย่อยแล้วจะได้กลูโคส เป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกายทารก และได้กาแล็กโตสซึ่งเป็นสารจำเป็นในการสร้างเซลล์สมอง และเส้นประสาท น้ำนมแม่มีปริมาณแล็กโตสสูง

      กรดไขมันจำเป็น น้ำนมแม่มีกรดไขมันจำเป็นที่มีลักษณะเป็นไขมันไม่อิ่มตัวเส้นยาวที่สำคัญ คือ DHA และ AA มีหน้าที่สำคัญในการเจริญเติบโตขอสมอง และประสาทตา

      โอลิโกแซ็คคาไรด์(Oligosaccaride) เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่มีหน้าที่สำคัญในการป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้เกิดโรคที่พบบ่อยในทารก เช่น โรคท้องเสีย โรคไข้หวัด ปอดปวม

      แล็กโตเฟอริน(Lactoferrin) เป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย จะพบมีปริมาณสูงในนมแม่ช่วงที่เป็นน้ำนมเหลือง

      Secretory IgA เป็นภูมิคุ้มกันแบบสำเร็จรูปจากร่างกายแม่ ทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อในทางเดินอาหาร และลดการเกิดอาการแพ้

      เม็ดเลือดขาว เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปจากร่างกายแม่ ที่ทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรค

      วิตามิน ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินอี และแคโรทีน

      ไขมัน เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญในน้ำนมแม่ ในน้ำนมระยะโคลอสตรัม(Colostrum) มีประมาณ 2 กรัม และจะเพิ่มเป็น 4-4.5 กรัม/100 มล. ในน้ำนมระยะปกติ

เห็นหรือไม่คะว่าปริมาณสารอาหารที่เป็นส่วนประกอบในน้ำนมแม่นั้นมีประโยชน์ และมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีมากกับเด็กตั้งแต่แรกเกิด รวมทั้งนมแม่มีน้ำมากพอสำหรับทารกอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องให้ลูกกินน้ำเลยในช่วง 6 เดือนแรก

ข้อมูลอ้างอิง หนังสือคู่มือตั้งครรภ์ทันสมัย, ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์