เคล็ดลับ 8 ประการในการรับฟังลูก

เคล็ดลับ 8 ประการในการรับฟังลูก

สรุป การรับฟังด้วยความใส่ใจ และเคล็ดลับ 8 ประการในการรับฟังลูก

ในบทก่อนหน้านี้ เราได้เห็นถึงความสำคัญของการให้ความสนใจในทางบวกแก่ลูกเมื่อเขาไม่คาดหวังไปแล้ว การรับฟังด้วยความใส่ใจเป็นการให้ความสนใจที่มีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่ง ในบทนี้เราได้เรียนรู้รูปแบบการฟังหลายแบบที่ส่งผลดีต่อเด็ก การฟังด้วยหูอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ คุณจำเป็นต้องฟังด้วยสายตาด้วยการโอบกอดสัมผัสด้วยท่าทางของร่างกาย และจากสิ่งที่เราพูดออกไป วิธีการรับฟังแบบนี้เป็นเรื่องของทัศนคติและจิตใจ ดังนั้นเหนือสิ่งอื่นใด เราต้องเชื่อมั่นและรู้สึกดีกับตนเองเพื่อที่จะสามารถรับฟังได้อย่างกลมกลืน จุดสำคัญของการรับฟังคือการให้ความสนใจลูกของคุณ

เด็กที่ได้รับการยอมรับและการใส่ใจนั้นเขาจะเคารพตนเองและมีความมั่นใจในตนเอง(ในทางกลับกัน เด็กที่ถูกเพิกเฉยจะไม่มั่นใจในตนเองและเชื่อว่าตนเองนั้นสมควรที่จะถูกทอดทิ้ง)และเขาจะสามารถรับรู้และเข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึกของตนเองอย่างแท้จริง  สามารถสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกของตนเองอย่างเป็นอิสระแทนที่จะแสดงออกมาทางพฤติกรรมหรือการกระ-ทำ 

สิ่งนี้ช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะเคารพผู้อื่น รู้จักรับฟัง และให้ความใส่ใจ เมื่อเราตัดสินใจว่าจะฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี แม้กระทั่งเพียง 5 นาทีต่อครั้ง เราก็ได้ทำสิ่งที่วิเศษสุดให้กับลูกของเราเองแล้วต่อไปเป็น เคล็ดลับ 8 ประการ ในการพัฒนาการรับฟังสำหรับลูกของคุณ ทั้งนี้การรับฟังที่ดีนั้นทำได้ยากตามสมควร อย่าให้เคล็ดลับเหล่านี้ทำให้คุณเสียกำลังใจ ลองเลือกนำเคล็ดลับสักอันสองอันที่คุณถูกใจไปทดลองใช้ดู

   เคล็ดลับ 8 ประการ ในการพัฒนาการรับฟังสำหรับลูกของคุณ 

 

        1. การให้ความสนใจ ลูกๆ สามารถรับรู้ได้ว่าความสนใจของคุณนั้นจริงใจหรือไม่ ละมือจากสิ่งที่คุณทำสักครู่ แล้วหันมาสังเกตลูกของคุณ โดยให้ความสนใจในสิ่งที่เธอกำลังพูดหรือทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเธอไม่เรียกร้องความสนใจ มิฉะนั้นลูกจะเข้าใจว่าการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจะเรียกร้องความสนใจจากคุณได้มากกว่า และคุณคาดการณ์ล่วงหน้าได้เลยว่าคุณจะต้องรับมือกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้นอีกเรื่อยๆ

 

        2. การฟังด้วยสายตา ในการรับฟัง สายตาของคุณมีความสำคัญกว่าหูอีกนะ มันมีประโยชน์อย่างมากถ้าคุณจะสบตากับลูกของคุณในระดับสายตาเดียวกัน แล้วสังเกตว่าลูกกำลังรู้สึกอย่างไร คุณลองนึกดูว่าตัวคุณเองรู้สึกอย่างไรเมื่อมีคนฟังคุณแต่ไม่สบตาคุณ?

 

        3. การฟังผ่านการสัมผัส การที่ผู้ปกครองสัมผัส โอบกอด หรือสวมกอด สามารถช่วยให้ลูกแสดงออกทางอารมณ์ได้มากขึ้น รวมถึงความกลัว ความรัก ความโกรธ น้ำตา และอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เขาไม่สามารถสื่อออกมาเป็นคำพูดได้

 

        4. การฟังผ่านการเล่น ลูกๆ ต้องการความสนใจในทางที่ดี ซึ่งก็คือเมื่อเขาทำตัวดี การฟังผ่านการเล่นหมายถึงการให้ความสนใจและทำให้เขารับรู้ว่าเราเฝ้าดูเขาอยู่ ด้วยการเฝ้าดูการเล่นของเขาอย่างเงียบๆ และจากการพูดคุยว่าคุณสังเกตเห็นว่าเขาทำอะไร เช่น “อืม หนูจัดที่นั่งให้ตุ๊กตานั่ง / อา หนูหาเจอแล้ว / อืม หนูใช้มันไป 3 อันแล้วนะ”

 

        5. การเงียบ บางทีคุณต้องปิดปากไม่ต่อล้อต่อเถียง หรือพยายามให้เหตุผลกับเด็กที่กำลังโมโห เพราะเด็กที่กำลังโมโหนั้นไม่ได้ต้องการคำอธิบาย ไม่ว่าจะสมเหตุสมผลแค่ไหนก็ตาม เขาเพียงแค่ต้องการทำตัวไร้เหตุผล กรีดร้อง แสดงความบ้าคลั่ง และให้ร้ายกับความไม่ยุติธรรมทั้งหมดบนโลกนี้ จนกระทั่งเขาได้ระบายความอัดอั้นตันใจเหล่านั้นหมดแล้ว เขาจึงพร้อมที่จะรับฟังคุณ

 

        6. พูดเพียงคำสองคำ บางครั้ง การพูดเพียงคำสองคำก็ทำให้ลูกรับรู้ได้ว่าคุณยังฟังและเข้าใจเขา เช่น อืม โอ้ จริงเหรอ เข้าใจแล้ว โอ้ ไม่นะ แต่ลูกก็สามารถรู้ได้ในทันทีหากว่าคุณพูดไปอย่างนั้นโดยไม่ได้ใส่ใจฟังอย่างแท้จริง


        7. การทวนความ พูดซ้ำในสิ่งที่ลูกพูดบ้าง หรือพูดสรุปในสิ่งที่ลูกพูด ในช่วงที่มีช่องว่างของบทสนทนา เธอจะรับรู้ได้ว่าคุณให้ความสนใจและคุณเข้าใจเธอ เช่น “โอ้ ลูกรัก จักรยานสามล้อลูกน่ารักจัง” “อ๋อ นี่คือสิ่งที่ลูกจะทำวันนี้นะ” การทำแบบนี้ช่วยให้ลูกมีกำลังใจอยากพูดถึงมันมากขึ้น

 

        8. การสะท้อนความรู้สึก สังเกตและสอบถามความรู้สึกที่ลูกของคุณมี จะช่วยให้เขาตระหนักถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นของเขาเอง เขาจะเกิดความไว้วางใจในตัวคุณ และรู้สึกเป็นอิสระกับตัวเอง “หนูรู้สึกเศร้าเพราะมันหักสินะ” “หนูโกรธที่แม่ไม่ให้หนูทำอย่างนั้นใช่ไหม” “หนูดีใจที่คุณยายจะมา”

# หมอมินพระราม 6



เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์