วิธีทำโทษลูกน้อย

วิธีทำโทษลูกน้อย

ในสมัยก่อนการเลี้ยงลูกที่ดีต้อง รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี เป็นสำนวนสุภาษิตที่หมายถึง หากลูกทำผิดก็ควรอบรมสั่งสอน ดุด่าว่ากล่าว และลงโทษเมื่อกระทำความผิดตามสมควร แต่ถ้าในสมัยนี้ การลงโทษไม่ได้หมายถึงเฉพาะการตีลูกเท่านั้น มีอีกหลายวิธีที่สร้างสรรค์มากกว่า พ่อแม่ต้องเข้าใจพัฒนาการของลูก เพราะบางครั้งสิ่งที่ลูกทำอาจเกิดจากความอยากรู้อยากเห็นตามช่วงวัยใช่ว่าจะ เกิดจากอาการดื้ออาการซนและอยากลองดีเท่านั้น และจะเลือกใช้วิธีไหน คุณพ่อคุณแม่คงต้องดูพฤติกรรมและการตอบสนองของลูกเราเป็นหลัก

    0-1 ปี วัยยังไม่รู้เหตุรู้ผล

วัยนี้ยังเล็กมากเหลือเกินที่จะเข้าใจความหมายและฟังการตักเตือนของคุณ ลูกยังบอกความต้องการไม่ได้นอกจากการร้องอือ อา หรือชี้นิ้วบอก หาสาเหตุที่ลูกร้องก่อนเพราะลูกอาจจะป่วยอยู่ก็ได้ สิ่งที่แม่ควรทำนอกจากจะโมโหใส่ลูกคือ ต้องอดทนและใจเย็นเท่านั้น คุณแม่ควรเบี่ยงเบนความสนใจ ถ้าลูกน้อยกำลังสนใจอะไรที่ดูท่าว่าจะอันตรายหรือไม่เหมาะไม่ควร เช่น ร้องจะเอามือแหย่ปลั๊กไฟให้ได้ สำหรับลูกวัยนี้มีวิธีเดียวค่ะคือเบี่ยงเบนความสนใจเพราะวัยนี้สนใจอะไร เพียงชั่วครู่ชั่วยาม เดี๋ยวเดียวก็ลืมแล้ว หากมีของเล่นชิ้นใหม่ที่น่าสนใจกว่า

    1-3 ปี วัยทีเล่นทีจริง

ช่วงวัยแห่งการเลียนแบบเห็นคุณพ่อคุณแม่ทำอะไรก็นึกอยากจะทำตามเล่นด้วย เป็นวัยแห่งความอยากรู้อยากเห็นไม่มีที่สิ้นสุด อยากรู้อยากเห็นไปเสียหมด แถมบางครั้งแม่ก็ยังทำไม่ถูกใจหนูเสียอีกแต่ครั้งจะบอกก็ยังพูดไม่คล่อง อาการอึดอัดขัดใจแบบนี้ล่ะค่ะที่ทำให้หนูโมโหวีนแตกพลอยให้แม่หงุดหงิดไปด้วย คุณแม่ควรเชื้อเชิญของเล่นชิ้นใหม่ เช่น ถ้าลูกน้อยชอบที่จะรื้อตู้เสื้อผ้า ลองชวนไปเล่นบอลข้างนอกหรือเล่นตุ๊กตา วาดรูป จะดีกว่าเอ็ดใส่ลูก ด้วยคำพูดและน้ำเสียงที่เชื้อเชิญว่าน่าสนุกของคุณแม่เป็นหลุมพลางให้ลูก เดินตามไปได้ง่าย

    นิ่งเสียตำลึงทอง

              เห็น ลูกร้องกรี๊ดก็นิ่งเสียค่ะ อย่าแว้ดกลับต้องข่มใจ(ทั้งที่ยากแสนยาก) บอกลูกด้วยคำสั้นๆ ที่เข้าใจง่าย และสีหน้าเป็นมิตร เช่น “หนูบอกแม่ดีๆ ว่าต้องการอะไร กรี๊ดแบบนี้แม่ฟังไม่รู้เรื่องนะคะ” วัยนี้พอจะเข้าใจและรับรู้ถึงท่าทีของเราแล้ว เมื่อบอกเสร็จก็หันกลับแล้วเฉยเสีย จากนั้นก็คอยดูท่าทีลูก สักพักถ้าเขาสงบลงไม่ว่าลูกจะเดินมาหรือเปล่าควรเข้าไปกอดลูกแล้วบอกเหตุผล ว่าทำไมแม่ถึงไม่ให้หนูทำหรือไม่ให้หนูเล่น เท่านี้ก็เข้าใจแล้วค่ะ(แต่อย่าเพิ่งคาดหวังว่าคราวต่อไปจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะลูกยังเล็กนักค่ะ อาศัยความถี่ในการใช้วิธีการเหล่านี้ เมื่อลูกโตขึ้นอีกหน่อยก็จะเข้าใจมากขึ้น)

    คำว่า “ไม่” “อย่า” “ห้าม” ใช่ว่าจะดีเสมอ

            จริงๆ แล้วการสั่ง”ห้าม” ไม่ให้ทำสิ่งนั้นๆ ยิ่งเป็นการยั่วยุ กระตุ้นให้มนุษย์ตัวเล็กของเรา อยากรู้อยากเห็น ประมาณว่ายิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ถ้าอยากเปิดลิ้นชักคุณพ่อจังเลยก็บอกเขาว่าตู้นั้นเป็นของคุณพ่อ หนูเปิดไม่ได้ต้องขออนุญาตก่อน แต่ถ้าหนูอยากเปิดให้เปิดกล่องของเล่นหนูแทนดีกว่า แล้วก็ใช้ภาษามือกวักเรียกลูกแล้วชี้มาที่กล่องด้วยสีหน้าเชื้อเชิญและยิ้ม แย้มแจ่มใสนะคะ ลูกจะได้คล้อยตามหน้าตาคุณแม่ว่าน่าสนุกจริงๆ ไงคะ

   3-6 ปี วัยช่างรู้.

วัย แห่งความมาดมั่นมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เขาจะคิดว่าเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งและจะชอบมากที่จะทำอะไรได้เหมือนที่ผู้ใหญ่ทำ ความคิดและจินตนาการรุดหน้า แต่ด้วยความเป็นเด็ก มีหลายอย่างที่ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ ด้วยพฤติกรรมของลูกวัยนี้นี่เองที่มักเป็นชนวนเปิดศึกให้พ่อกับแม่ได้ง่ายๆ แต่อย่าลืมว่าวัยนี้เขาสามารถเข้าใจเหตุผลมากขึ้นเป็นลำดับแล้ว การบอกเหตุผลคู่ไปกับการลงโทษจะใช้ได้ผลดี ต้องเริ่มสร้างกฎกติกาเพื่อฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองได้แล้ว เพื่อเป็นการปูทางสร้างพฤติกรรมที่ดีให้ลูกในอนาคต


วิธีทำโทษลูกน้อย

    Time out


วิธีลงโทษที่มุ่งให้เด็กได้ทบทวนสิ่งที่เขาทำผิด time out จะช่วยแยกเด็กออกจากสิ่งเร้าและสิ่งกระตุ้นที่เขาต้องการชั่วคราว เพื่อให้เด็กสงบและเป็นการช่วยฝึกให้ลูกควบคุมตัวเองได้ ขณะจับลูกแยกออกมาบอกเขาด้วยค่ะว่า “ลูกกำลังโกรธ ต้องมานั่งมุมห้องเพื่อให้ใจเย็นนะคะ” การใช้เวลาtime out ควรทำไปตามช่วงอายุลูก เช่น ถ้า 4 ขวบก็ใช้เวลา time out 4 นาที หรือถ้าลูก 5 ขวบก็ใช้เวลา time out 5 นาที เมื่อลูกสงบอยู่ครบตามเวลาแล้วก็ปล่อยให้เด็กกลับไปทำกิจกรรมอย่างอื่นต่อ ได้ค่ะ


    สร้างกฎเพื่อฝึกระเบียบวินัย

 

วัยนี้สามารถเข้าใจและทำตามกฎเกณฑ์ได้บ้างแล้ว เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ต้องอาศัยเวลาและออกกฎที่ไม่ขัดกับธรรมชาติของลูกมากเกินไป ที่สำคัญกฎที่ตั้งขึ้นต้องเป็นกฎที่ทุกคนในบ้านปฏิบัติกับเขาด้วยวิธีเดียวกัน

การทำโทษด้วยการตี วิธีนี้ควรเป็นวิธีสุดท้าย หากหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากวิธีนี้ หากมีเหตุผลไม่เพียงพอหรือทำไปด้วยอารมณ์โกรธ ผลที่ได้จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้น การตีลูกจะต้องคำนึงถึงหลักดังนี้

      1.อย่าตีพร่ำเพรื่อ การตีลูกไม่จำเป็นต้องตีบ่อยๆ เพราะเด็กที่โดนตีบ่อย มีแนวโน้มที่จะเกเรและต่อต้านมากยิ่งขึ้น ดังนั้น พฤติกรรมบางอย่างที่สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องลงไม้ลงมือ เช่น การร้องไห้โวยวายการปัสสาวะรดที่นอน ใช้การตักเตือนก็เพียงพอ

     2.การตีแรงๆ หรือการตีโดยใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง จะทำให้ลูกรู้สึกหวาดกลัวและไม่กล้าเข้าใกล้พ่อแม่ ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องระมัดระวังอย่าใช้กำลังกับลูกมากเกินไป และควรจะตีเมื่อลูกทำผิดเรื่องเดิมเป็นครั้งที่สอง ทั้งๆ ที่พ่อแม่ได้ตักเตือนไปแล้ว จึงจะเป็นการตีที่สมเหตุสมผล

     3.การใช้ไม้เรียว เข็มขัด หรือไม้แขวนเสื้อตีลูก จะเป็นการทำให้ลูกบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ ลูกจะรู้สึกหวาดกลัวและตื่นตระหนก สิ่งที่ตามมาคือลูกจะไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นความผิด แต่คิดว่าพ่อแม่ใช้กำลังกับเขา

     4.อย่าตีลูกต่อหน้าคนอื่น การตีลูกต่อหน้าคนอื่นจะทำให้ลูกอับอายและเสียหน้า วิธีจัดการเมื่อลูกทำตัวไม่น่ารักขณะมีผู้อื่นอยู่ด้วย ให้พ่อแม่ใช้วิธีเตือนด้วยเสียงเข้มๆ ก่อน หากเขาไม่หยุดก็ให้พาลูกแยกออกไปสักพักแล้วค่อยลงโทษ

การที่พ่อแม่จะอบรมสั่งสอนลูก สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การระงับสติอารมณ์และใช้เหตุผลให้มาก และพ่อแม่ก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กๆ ได้เห็นอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพราะเด็กจะซึมซับพฤติกรรมของคนรอบข้างได้เร็ว และเมื่อลูกทำสิ่งที่ดี พ่อแม่ก็ต้องไม่ลืมที่จะให้กำลังใจเพื่อให้ลูกมีกำลังใจที่จะทำดีต่อไป

 


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์