ลูกไม่ยอมเชื่อฟัง ต้องทำอย่างไรดี

ลูกไม่ยอมเชื่อฟัง ต้องทำอย่างไรดี

คำถามนี้เป็นคำถามที่พบบ่อยของคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยอนุบาล

พ่อแม่มักบอกว่า เคยดุแล้วลูกไม่เชื่อฟัง เลยไม่กล้าดุอีก กลัวลูกจะเกลียดเอา ทำให้คุมลูกได้ลำบาก และมีปัญหาพฤติกรรมเอาแต่ใจ เจ้าอารมณ์ตามมา

แม่ : ไม่รู้ทำไมนะคะ เวลาแม่ดุน้องตั้ม(นามสมมติ)ทีไร ไม่เคยเชื่อฟังเลย 
แต่พอพ่อเค้าปราดตามองทีเดียว น้องตั้มรีบทำทันทีเลยค่ะ แต่แปลกนะคะ ทั้งที่พ่อก็ดุเหมือนกัน แต่ลูกก็ยังชอบเล่นกับพ่อน่ะค่ะ เวลาอารมณ์ดีเล่นกันสนุกสนานเชียว

หมอ : พ่อกับแม่มีวิธีรับมือกับลูกต่างกันยังไงเหรอครับ ลูกเลยเชื่อฟังไม่เหมือนกัน

แม่ : พ่อเค้าจะไม่ค่อยอยู่บ้านน่ะค่ะ นานๆได้อยู่กับลูกสักที แต่พ่อเค้าเป็นคนจริงจังค่ะ เข้มงวด ไม่ตามใจลูกไปเรื่อย ส่วนแม่ยอมรับค่ะว่าค่อนข้างตามใจ เพราะบางทีทำงานบ้านเหนื่อยๆ ก็ยอมให้ตัดรำคาญไปบ้าง กลัวลูกเกลียดบ้าง จนบางทีก็เผลอตวาดแรงๆไปแต่ลูกก็ไม่เห็นจะกลัวเลยค่ะ แถมบางทีขึ้นเสียงกับเราอีก

หมอ : ดูเหมือนคุณแม่น่าจะได้คำตอบแล้วนะครับคำตอบสำหรับกรณีนี้ อยู่ในประโยคที่คุณแม่พูดมาทั้งหมด ผมสรุปให้คุณแม่รายนี้ฟังว่า จะให้ลูกเชื่อฟัง

แม่ต้องทำตัวเป็นคนที่ “คาดเดาได้ คงเส้นคงวา และหนักแน่น” ซึ่งเห็นลักษณะบางอย่างได้จากพ่อ ทำให้ลูกเชื่อฟัง"คาดเดาได้" คือ ตอบสนองกับลูกแบบคงเส้นคงวา เพื่อให้เด็กการเรียนรู้เงื่อนไข เหตุผลที่ชัดเจน เช่น เมื่อลูกทำผิด ควรจะได้รับการตักเตือน(ด้วยความเมตตา) ไม่ได้ปล่อยผ่านไป เวลาลูกทำผิดทุกครั้ง

เมื่อไหร่ก็ตามที่เค้าเกิดทำผิดในเรื่องที่เคยตักเตือนแล้วเด็กจะยอมรับได้ง่ายขึ้นที่จะถูกตักเตือนหรือลงโทษที่เด็ดขาดขึ้น ตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ก่อนหน้านี้เค้าจะรู้ว่า พ่อแม่ดุ หรือลงโทษเค้าด้วยความหวังดี ไม่ได้จะทำร้ายหรือระบายอารมณ์ เค้าก็จะไม่เกลียดเรา ในทางตรงข้าม ทุกครั้งที่เค้าทำดี เราควรตอบสนองทางบวก เช่น ชม กอด ให้รางวัล เด็กก็จะพยายามทำดีเพื่อให้ได้รับการตอบสนองทางบวกจากเรา หากเราทำตัวแบบคาดเดาไม่ได้ เช่น เมื่อลูกทำดี เรากลับทำเฉยๆบ้าง ชมบ้าง หรือดุบ้าง(อาจเพราะอารมณ์เสียมาจากที่อื่น) ลูกอาจจะไม่รู้ว่า สิ่งที่เค้าทำมันดีหรือไม่ อาจทำให้เกิดความเบื่อหน่าย และขาดความเชื่อมั่นในตัวเรา จนอาจถึงขั้นไม่อยากอยู่ใกล้เรา เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย คาดเดาไม่ได้ว่าเราจะมาไม้ไหนท้ายที่สุด จะเกิดนิสัยดื้อรั้น เอาแต่ใจตามมา


สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ "หนักแน่น"ในสิ่งที่บอกกับลูก ไม่ตามใจแบบไม่สมควร หรือยอมเพราะตัดรำคาญ จะทำให้เด็กเห็นจุดอ่อน และใช้เป็นเงื่อนไขต่อรองที่จะไม่ยอมทำตาม เช่น ถ้าตื๊อมากๆ ร้องงอแงสักพัก เค้าจะรู้ว่าพ่อแม่ก็จะยอมเอง ทำให้เราปรับพฤติกรรมลูกไม่ได้ผล


ประเด็นเพิ่มเติม ที่ได้เรียนรู้จากครอบครัวนี้ คือ แม่รับบทหนักในการเลี้ยงลูกมากไป ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าในการเลี้ยงลูก ทำให้บางครั้งอาจตอบสนองกับลูกแบบไม่เหมาะสมได้ ยิ่งทำให้ลูกมีปัญหาพฤติกรรมมากขึ้น แม่ก็จะเครียดมากขึ้น จนกลายเป็นนางยักษ์สำหรับลูก เป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนแม่เองก็กังวลว่าจะยิ่งทำให้ลูกเกลียด ดังนั้น พ่อควรมีบทบาทในการมีส่วนร่วมมากขึ้นในการเลี้ยงลูก เพื่อรักษาสมดุล อีกทั้งตัวพ่อเองมีความสามารถในการจัดการพฤติกรรมลูก ยิ่งต้องให้อยู่กับลูกให้มากๆ เพื่อปรับพฤติกรรมลูกได้อย่างต่อเนื่อง จะเลี้ยงลูกให้พัฒนาได้ดี  พ่อแม่ต้องร่วมมือกัน และพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆกันครับ

# หมอไปป์ แฮปปี้คิดส์


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์