ลูกไม่ยอมนอนกลางวันทำอย่างไรดีนะ

ลูกไม่ยอมนอนกลางวันทำอย่างไรดีนะ

ปัญหาลูกไม่ยอมนอนกลางวันพบได้ทั้งในเด็กเล็กและเด็กในวัยอนุบาล การนอนถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับวัยเด็ก เพราะการนอนหลับสนิทส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของร่างกาย และพัฒนาการทางด้านสมอง เด็กในแต่ละช่วงวัยมีระยะเวลาการนอน และช่วงเวลาการนอนที่แตกต่างกันไป มาดูกันว่า การนอนหลับของแต่ละช่วงวัยเป็นอย่างไร

ความลับในการนอนของเด็กที่น่ารู้

ทารกวัยแรกเกิด

โดยทั่วไปจะเห็นว่าทารกแรกเกิดนั้นนอนหลับเกือบตลอดเวลา แต่เชื่อไหมคะ ที่เราเห็นว่าทารกกำลังนอนหลับนั้น ที่จริงแล้วเจ้าหนูน้อยไม่ได้นอนหลับสนิทจริง ๆ ค่ะ เพราะไม่ว่ายามหลับหรือยามตื่น สมองน้อย ๆ ของเจ้าหนูกลับตื่นตัวตลอดเวลา เพราะนักวิจัยได้มีการทดสอบวัดคลื่นสมองของทารกแรกคลอด พบว่า คลื่นสมองของทารกในขณะที่หลับและขณะที่ตื่นมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ทีมนักวิจัยดังกล่าว ได้แนะนำคุณพ่อคุณแม่ว่า ไม่จำเป็นต้องให้ห้องนอนนั้นเงียบสงบจนเกินไป สามารถเปิดเพลงคลอเบา ๆ เปิดไฟสลัว ๆ หรือมีเสียงพูดคุยกันระหว่างพ่อแม่จะให้ผลดี เพราะเจ้าตัวน้อยอาจจะกำลังเงี่ยหูฟังเสียงของคุณอยู่ก็ได้ ยิ่งเสียงของคุณพ่อคุณแม่ด้วยแล้ว เขาจะคุ้นเคยตั้งแต่อยู่ในท้อง จะทำให้ทารกรู้สึกอบอุ่นใจอีกด้วย

ทารกวัย 2 - 5 เดือน

ทารกในช่วงวัย 2 - 5 เดือน เวลาที่เจ้าตัวน้อยนอนหลับ บางทีคุณจะสังเกตอากัปกิริยา บางทีก็เหมือนจะยิ้ม ขยับปากคล้ายจะดูดนม บางทีก็ทำหน้าย่นคล้ายจะร้องไห้ จริง ๆ แล้ว ทารกน้อยไม่ได้กำลังฝันดีหรือฝันร้ายแต่อย่างใด แต่เป็นการพัฒนากล้ามเนื้อใบหน้าเท่านั้น

ขวบครึ่ง

ในวัยนี้ถึงจะนอนหลับได้สนิทจริง ๆ นักวิจัยพบว่า ในช่วงวัยขวบครึ่งคลื่นสมองขณะหลับและขณะตื่นนั้นจะมีความแตกต่างกัน คือ ขณะหลับคลื่นสมองจะตื่นตัวลดงกว่าในช่วงเวลาที่เด็กตื่น และเริ่มแยกแยะเวลากลางวันกับกลางคืนออกแล้ว ทำให้เด็กวัยนี้นอนหลับในเวลากลางคืนได้ยาวนานขึ้น

ทารกวัย 6 เดือน

เชื่อไหมว่า ทารกในวัยนี้หนูฝันเป็นแล้วนะ รู้ได้อย่างไร ทีมนักวิจัยได้ใช้การทดสอบโดยการวัดคลื่นสมองเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ พบว่า คลื่นสมองทารกในวัย 6 เดือนขณะที่กำลังฝันเมื่อนำมาเทียบกับผู้ใหญ่ที่นอนหลับฝัน ไม่น่าเชื่อว่าเหมือนกันจริง ๆ

อายุ 3 - 4 ขวบ

นักวิจัยได้วัดคลื่นสมองของเด็กในวัย 3-4 ขวบ ในขณะที่เด็กนอนหลับ เชื่อว่า ความฝันของเด็กวัยนี้จะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และจะฝันเหมือนภาพสไลด์ คือ เนื้อเรื่องความฝันยังไม่ต่อเนื่อง

อายุ 5 - 6 ขวบ

ในวัยนี้ความฝันจะมีความต่อเนื่องมากขึ้น มีความเชื่อมโยงของเรื่องราวความฝันมากขึ้น และที่สำคัญยังมีตัวเองเป็นตัวเอกของเรื่องเสียด้วย

 

จากที่กล่าวมา เป็นการเปิดเผยความลับการนอนของเจ้าหนู ทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้ว่าการนอนของทารกรวมถึงความฝันนั้น มีความสัมพันธ์กับคลื่นสมอง ซึ่งเป็นผลดีเสียอีกที่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ จะเข้าใจการนอนของเด็กได้ดีขึ้น ทีนี้หากเราฝึกวินัยการนอนให้แก่ลูกน้อยย่อมเป็นสิ่งที่ดี

วินัยการนอน ฝึกได้ไม่ยาก

แม้ว่าการนอนจะเป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปก็ตาม แต่การนอนของวัยเด็กนั้น ซึ่งวัยที่ซุกซนอยากเรียนรู้ ถ้าไม่ง่วงจริง ๆ ไม่มีทางยอมนอนเด็ดขาด ยิ่งถ้าได้เล่นแล้วหล่ะก็ถึงไหนถึงกัน

การนอนของเด็ก ๆ นั้น ไม่ใช่เพียงการพักผ่อนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงพัฒนาการร่างกายและสมองกำลังพัฒนาในช่วงหลับ เพราะขณะที่เด็กหลับสนิทนั้นฮอร์โมนชนิดหนึ่ง คือ ฮอร์โมนแห่งการเจริญเติบโต หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) นั่นเอง ซึ่งจะหลั่งออกมามากที่สุดในช่วงที่เด็กหลับสนิท รู้อย่างนี้แล้ว เรามาฝึกวินัยการนอนกันดีกว่าค่ะ

คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มต้นจาก เมื่อได้เวลานอน ปิดไฟดวงใหญ่ เหลือเพียงไฟสลัว ๆ พาลูกเข้านอนพร้อมกับเล่านิทาน หรือร้องเพลงกล่อม แต่ควรมีข้อตกลงกับเจ้าหนูเสียหน่อยว่าหากเล่านิทานจบหรือร้องเพลงจบแล้วก็ถึงเวลานอนแล้วนะจ๊ะ จากนั้นงดการพูดคุยค่ะ เพราะเด็กลองได้คุยแล้ว ไม่จบง่าย ๆ หากเด็กมีตุ๊กตาหรือหมอนใบโปรดก็ให้เขาเอามากอด หลังจากนั้นความเงียบจะทำให้เด็กหลับได้ง่าย

การฝึกลูกเข้านอนในช่วงแรกยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก ต้องอดทนค่ะ อดทนคำเดียวเลยถึงจะประสบความสำเร็จ หรือไม่ก็เจอเด็กขัดขืนไม่ยอมนอน คุณแม่ต้องใจเย็นค่อย ๆ ปรับพฤติกรรม และทำเช่นนี้สม่ำเสมอ เด็กจะค่อย ๆ คุ้นชิน หากทำได้สำเร็จเมื่อใดลูกของคุณจะกิน นอน เป็นเวลานับว่าเป็นความสำเร็จของคุณแม่จริง ๆ ค่ะ

ที่กล่าวมาในข้างต้นถึงความลับในการนอนของเด็ก รวมถึงการฝึกวินัยให้เด็กนอนเป็นเวลา ทีนี้เดินทางมาถึงหัวข้อ ลูกไม่ยอมนอนกลางวันทำอย่างไรดีนะ มาดูกันว่าเพราะอะไรและจะแก้ไขได้อย่างไร ติดตามอ่านกันเลยค่ะลูกไม่ยอมนอนกลางวันทำอย่างไรดีนะ

ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจช่วงระยะเวลาที่เด็กต้องการพักผ่อนในช่วงวัยของเขา น.พ.บุญรัตน์ ภัทรากุลพิเชษฐ์ กุมารแพทย์ ได้อธิบายถึงช่วงเวลาการนอนพักผ่อนของเด็กดังนี้

เด็กวัย ขวบครึ่ง -2 ขวบ และเด็กเนิร์สเซอรี่ จะนอนทั้งวันประมาณ 12 ชั่วโมง/วัน โดยนอนตอนกลางวันประมาณ 1 ชั่วโมง

เด็กอนุบาล วัย 3 - 6 ขวบ จะนอนประมาณ 8 - 12 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคนและกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันว่าจะสร้างความเหนื่อยล้า อ่อนเพลียให้เด็กมากเพียงใด

เด็กวัย 5 - 6 ขวบ จำนวนมากที่ไม่ยอมนอนกลางวันจึงไม่ต้องกังวล หากเด็กนอนกลางคืนมาเพียงพอ แต่กิจกรรมในช่วงบ่ายควรจะเป็นกิจกรรมเบา ๆ ให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย

หลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ประสบปัญหาเด็กไม่ยอมนอนกลางวัน โดยเฉพาะเด็กในช่วงวัย 3 - 6 ขวบ ซึ่งวัยนี้เป็นวัยอนุบาล วัยแห่งการเรียนรู้และอยากเรียนรู้ไปเสียทุกเรื่อง ยิ่งเด็กที่นอนตื่นสายที่มีผลจากการนอนดึก อาจเกิดจากรอคุณพ่อคุณแม่กลับจากที่ทำงาน หรือห่วงเล่นจนไม่ยอมนอน เมื่อตื่นสายทำให้พอถึงเวลากลางวันเพื่อนคนอื่น ๆ นอนหลับกันหมดแล้วแต่เจ้าหนูกลับนอนทำตาปริบ ๆ ก็หนูไม่ง่วงนี่นา เพราะเด็กอาจจะหลับในช่วงเวลากลางคืนยาวนานรวมถึงการตื่นสายนั่นเอง เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ก็อย่าบังคับให้นอนเลยค่ะ ควรเปลี่ยนเป็นการหากิจกรรมให้ทำเงียบ ๆ เช่น อ่านหนังสือนิทาน ฟังเทปนิทานหรือเพลง ก็ได้ค่ะ แต่ถ้าคุณครูพบเหตุการณ์ไม่ยอมนอนกลางวันเช่นนี้เสมอ ๆ ควรมีการพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อร่วมมือกันปรับพฤติกรรมการนอนตั้งแต่ที่บ้าน

คำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ อย่างแรกไม่ควรให้เด็กนอนดึก ควรฝึกให้ตื่นเช้าจนเป็นเรื่องปกติ เมื่อไปโรงเรียนก็จะเข้าที่เข้าทาง การทำกิจกรรมในช่วงเช้าหากวันไหนที่ต้องออกแรงมากกว่าปกติ เช่น เล่นกีฬา วันนั้นเวลากลางวันคงไม่มีเด็กคนไหนนั่งตาแป๋วเป็นแน่ เพราะได้เสียเหงื่อและออกแรง ร่างกายอ่อนเพลีย ทำให้อยากพักผ่อน วิธีการนี้สามารถใช้ได้โดยเฉพาะช่วงวันหยุดไม่ต้องไปโรงเรียนเมื่อเด็กอยู่บ้าน ก็ให้เล่นอะไรที่ออกกำลังในช่วงเช้า หรือช่วงสาย เพื่อให้เด็กได้ใช้พลังงาน เมื่อถึงเวลากลางวันเด็กจะได้นอนหลับสนิทนั่นเอง

 

 

 

ที่มา TheAsianParent Thailand


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์