พ่อแม่ควรทำอย่างไรให้ลูกๆไว้ใจ มีอะไรก็อยากเล่าอะไรให้ฟัง

พ่อแม่ควรทำอย่างไรให้ลูกๆไว้ใจ มีอะไรก็อยากเล่าอะไรให้ฟัง

มีคำปรึกษาจากพ่อแม่หลายคนที่กลุ้มใจเพราะว่าลูกๆ ไม่ค่อยเล่าเรื่องอะไรให้ฟัง โดยเฉพาะลูกวัยรุ่น

พ่อแม่รู้สึกเป็นห่วงกลัวว่าจะมารู้ทีหลังเมื่อลูกมีปัญหา และอาจสายเกินไปแล้ว

หมอจึงอยากมาสรุปเทคนิคและข้อที่ควรทราบว่าจะทำยังไง ที่พ่อแม่จะเป็นคนที่ลูกเชื่อมั่น ไว้ใจ พอที่จะเล่าเรื่องต่างๆให้ฟังได้

1.พ่อแม่ต้องมีเวลาและความใกล้ชิดให้ลูก

ตรงนี้สำคัญมาก พ่อแม่ควรมีเวลาที่ใกล้ชิดพูดคุยเรื่องต่างๆ ถ้าเป็นเด็กเล็กคือ มีเวลาที่จะเล่นกับเขา โตขึ้นก็พูดคุยเรื่องต่างๆด้วยกัน หมอพบเห็นบ่อยๆ ว่าในยุคนี้พ่อแม่ทำงานหนัก ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก ถ้ามีเวลาบางทีต่างคนต่างกดโทรศัพท์ ตรงนี้ไม่ใช่เวลาที่จะใกล้ชิดกันทางจิตใจ พ่อแม่ควรแสดงให้ลูกรู้สึกได้รับความรักและเอาใจใส่ บางคนไม่มีเวลาก็ซื้อแต่ของเล่นให้ คิดว่าเพื่อทดแทนเวลาที่มีให้ลูก แต่ของเล่นมากมายยังไงก็ไม่สามารถทดแทนพ่อแม่จริงๆที่ลงไปนั่งเล่น หัวเราะ ยิ้มแย้ม พูดคุยกับเขาจริงๆได้หรอก

2.พ่อแม่ควรฟังลูกอย่างเอาใจใส่เวลาที่ลูกเล่าเรื่องต่างๆให้ฟัง
ฟังลูกอย่างเอาใจใส่ตั้งแต่เล็ก เพราะตอนเล็กๆ ลูกจะชอบเล่าอะไรต่างๆให้พ่อแม่ฟังมาก ตอนลูกอยากเล่า มองหน้า สบตาเวลาที่ลูกเล่า พ่อแม่บางคนไม่ค่อยมีเวลาที่จะรับฟังลูก พอลูกโตขึ้นอยากให้ลูกเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง ซึ่งลูกวัยรุ่นที่ตามปกติมักติดเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ ก็จะไปเล่าเรื่องต่างๆให้เพื่อนฟังแทน พ่อแม่ที่เพิ่งอยากให้ลูกเล่าเรื่องให้ฟังตอนลูกโต ตอนนั้นก็ไม่ทันแล้ว

3.เวลาที่ลูกเล่าเรื่องต่างๆให้ฟัง อย่าแสดงอารมณ์หงุดหงิด กังวล เครียดไปกับเรื่องที่ลูกเล่ามากเกินไป

หมอเคยคุยกับเด็กๆบางคนที่ไม่ค่อยอยากเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟัง เพราะพ่อแม่มีความกังวลหรือมีอารมณ์ท่วมท้นเวลาลูกเล่า เช่น ห่วงมาก เครียดไปกับเรื่องที่ลูกเล่า โกรธ ไม่พอใจ พอลูกเล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่กลายเป็นเครียดกว่าเด็กอีก ทำให้เด็กยิ่งเครียด เด็กก็จะรู้สึกว่าไม่อยากทำให้พ่อแม่กลุ้มใจ แถมรู้สึกว่าเล่าไปแล้วตัวเองไม่สบายใจมากกว่าเดิม เลยไม่เล่าดีกว่า

4.ฟังลูกด้วยการเอาใจลูกมาใส่ใจพ่อแม่ ฟังด้วยความเห็นใจ
เช่น เรื่องที่ลูกเล่าให้พ่อแม่ฟังว่าเขาทำผิดพลาดมา แน่นอนว่าลูกทำผิด ต้องตักเตือน หรือทำโทษ แต่การฟังด้วยความเห็นใจ พ่อแม่จะใจเย็นพอ ก่อนที่จะไปแนะนำหรือทำโทษ ฟังลูกให้จบก่อน เมื่อลูกเล่าให้ฟัง ก็คงกลัวอยู่แล้วว่าจะถูกตำหนิ แต่ก็อยากเล่าเพราะอยากให้พ่อแม่เข้าใจ ช่วยเหลือ ให้กำลัง ลูกคงรู้ดีว่าเล่าไปพ่อแม่ก็ไม่ชอบหรอก แต่ก็ไม่ได้อยากให้พ่อแม่ตำหนิหรือวิจารณ์ตั้งแต่ต้น การแนะนำทำได้แต่ต้องฟังให้จบก่อน ถ้าลูกรู้สึกว่าเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟังทีไร พ่อแม่บ่นทุกครั้ง ถูกดุทุกที ทีหลังลูกมีอะไรก็อาจจะเก็บเอาไว้ไม่บอกใคร กลายเป็นการปกปิดหรือไปแก้ปัญหาเองโดยไม่บอกพ่อแม่ เพราะฉะนั้นจะแนะนำหรือสั่งสอนอะไรให้ใจเย็นๆ รอให้ลูกเล่าระบายความไม่สบายใจที่เกิดให้จบก่อน แล้วค่อยสอน และสอนด้วยความเข้าใจ ทำโทษได้ แต่อย่าใช้อารมณ์รุนแรง

5.เวลาพูดกับลูก หลีกเลี่ยงคำพูดที่ลูกฟังแล้วรู้สึกบั่นทอนจิตใจ
เช่นคำพูดประชด เปรียบเทียบ ตีตรา คำหยาบ เพราะคำพูดพวกนั้นมักจะหลุดออกมาในเวลาที่พ่อแม่รู้สึกโกรธและไม่พอใจ พ่อแม่อาจไม่ได้ตั้งใจ แต่เมื่อลูกได้ยินก็จะเกิดความรู้สึกด้านลบ กลายเป็นการต่อต้าน ไม่เชื่อฟังและทีหลังก็จะไม่อยากคุยกับพ่อแม่ในที่สุด

6.เมื่อลูกเป็นวัยรุ่นบางครั้งเขาก็อาจไม่ได้เล่าทุกเรื่องให้พ่อแม่ฟัง ซึ่งตรงนั้นเป็นปกติ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าเด็กวัยรุ่นจะมีพื้นที่ส่วนตัว ตรงนี้เป็นปกติ การที่เขาไม่ได้เล่าให้พ่อแม่ฟังทุกเรื่อง หมายถึงว่า ลูกของเราไม่ได้เป็นเด็กเล็กๆแล้ว อันนี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ของลูกวัยรุ่นควรทำความเข้าใจ ไม่ต้องไปโกรธหรือบังคับให้เขาเล่าทุกเรื่อง จะทะเลาะกันเปล่าๆ แต่ถ้าอยากให้เขาเล่าฟังให้มากๆ ก็จงทำตามข้อหนึ่งถึงห้าที่หมอบอก น่าจะทำให้ลูกๆไว้วางใจ คุยกับพ่อแม่มากขึ้น

หวังว่าบทความนี้ของหมอจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ได้อ่านนะคะ เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่และลูกๆทุกคนค่ะ

เครดิตแหล่งข้อมูล : FB เข็นเด็กขึ้นภูเขา

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์