พัฒนา EQ กับลูกด้วยการตั้งคำถามให้เป็น

พัฒนา EQ กับลูกด้วยการตั้งคำถามให้เป็น

เริ่มที่ตัวอย่างเลยนะครับน้องท็อป วัย 9 ปี กลับจากโรงเรียน มาถึงบ้านด้วยใบหน้าที่บึ้งตึง แม่เห็นดังนั้นจึงถามท็อปว่า

แม่:“วันนี้หน้าบึ้งเชียว เป็นอะไรรึเปล่าจ๊ะลูก” (สะท้อนภาพเพื่อให้เด็กรับรู้ตัวเอง)

ท้อป:“วันนี้ท็อปโดนเพื่อนแกล้งครับแม่ เพื่อนมาล้อว่าท็อปหน้าเหมือนผู้หญิง เป็นตุ๊ด”
แม่:“อืม..เพื่อนล้อแบบนั้น แล้วท็อปรู้สึกยังไงครับ”(ถามอารมณ์ ความรู้สึกลูก)

ท้อป:“ก็...โกรธ โมโหมากๆเลยแม่”
แม่:“เอ..ที่โกรธเนี่ย..ท็อปคิดยังไงเหรอลูก”(ถามความคิด มุมมอง การรับรู้ของลูก)

ท้อป:“ก็ท็อป ไม่ได้เป็นตุ๊ดสักหน่อย เลยไม่ชอบให้เพื่อนล้อแบบนั้น”
แม่:“อืม..แม่พอจะเข้าใจท็อปแล้ว แล้วพอโกรธ เพราะคิดว่าเราไม่ได้เป็นแบบนั้น แล้วท็อปทำยังไงไปเหรอลูก”(แสดงความเข้าใจลูก และถามสิ่งที่เกิดขึ้นสืบเนื่อง)
(เชื่อมโยง ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของลูกว่ามีความสัมพันธ์กัน เพื่อให้ลูกเข้าใจตัวเอง)

ท้อป:“ท็อปก็เลย ต่อยหน้าเพื่อนไป ตอนนั้นมันโมโหมากนี่ครับ”
แม่:“พอต่อยหน้าเพื่อน แล้วมีอะไรเกิดขึ้นตามมาบ้างลูก(ตั้งคำถามเพื่อให้ลูกเห็นผลกระทบ สืบเนื่องจากการกระทำของตัวเอง)

ท้อป:“ก็..โดนครูตีครับ”
แม่:“แล้วลูกจะจัดการเรื่องนี้ยังไงต่อไป ถ้าเพื่อนมาล้ออีก”(ตั้งคำถามให้ลูกคิดวิธีการจัดการปัญหาด้วยตัวเอง)

ท้อป:“ก็คงไม่ต่อยเพื่อนแล้วครับ กลัวโดนครูตีอีก คงทำเฉยๆไม่สนใจ แต่ถ้ายังไม่หยุด ท็อปก็คงบอกครูครับ” 
แม่:“แม่ก็เห็นด้วยกับวิธีนี้นะลูก จากที่เราคุยกันทั้งหมด ลูกได้เรียนรู้หรือข้อคิดอะไรบ้างจ๊ะ”(ตอกย้ำ เพื่อให้ลูกตกผลึกทางความคิด)

จากตัวอย่าง จะสังเกตว่า แม่แทบจะไม่ต้องอบรม บรรยายเลย เด็กสามารถเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง จากคำถามที่เราตั้งให้ลูกคิด (แต่ถ้าลูกตอบไม่ได้ เราค่อยเสนอแนะแนวทางให้) ซึ่งการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ลูกจะเกิดความตระหนัก และยอมรับได้มากกว่ามีคนบอกให้ทำไม่จำเป็นต้องถามรายละเอียดเนื้อหามากจนเกินไป เช่น เพื่อนมาล้อกี่ครั้ง ล้ออะไรบ้าง เพื่อนชื่ออะไร ฯลฯ ให้แค่พอได้ระบาย และเข้าใจเรื่องราวก็พอ เพราะเนื้อหาพวกนี้ ไม่ได้สำคัญแต่ความรู้สึกและความคิดของลูกกับเรื่องนั้นๆ ต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญกว่า พ่อแม่มักเคยชินกับการช่วยหาวิธีช่วยเหลือลูกอย่างเดียว 

จนลืมถามคำถามเหล่านี้กับลูกควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองคิด วิเคราะห์ด้วยตัวเอง แล้วจะพบว่าลูกอาจเก่งกว่าที่คุณคิด การตั้งคำถามที่ดีจะช่วยให้ลูกเกิดการเรียนรู้และเข้าใจตัวเองที่ดีขึ้น สามารถรับรู้อารมณ์ตัวเอง และนำไปสู่การจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาอีคิว จะช่วยให้ลูกใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขครับ

* บทความนี้เน้นประเด็นเรื่องวิธีตั้งคำถามกับลูก ยังมีเนื่อหาที่ควรสอนลูกเพิ่มเติม เช่น การจัดการความโกรธ
**สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าคำถาม คือภาษากายของพ่อแม่ ที่ตั้งใจรับฟังและพยายามทำความเข้าใจลูก

# หมอไปป์ แฮปปี้คิดส์


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์