บทที่ 5 การฝึกวินัย

บทที่ 5 การฝึกวินัย

“นิค หนูเก็บของเล่นให้เรียบร้อยได้แล้ว เดี๋ยวจะได้เวลาเล่านิทานแล้ว”
สิ่งที่แอนร้องขอนั้นสมเหตุสมผล เธอกำลังสอน นิค ลูกชายวัย 3 ขวบให้เก็บของเล่นให้เรียบร้อย และปกติแล้วเขาก็เป็นเด็กดีมาโดยตลอด“ไม่ ผมไม่เก็บ เดี๋ยวพรุ่งนี้ผมก็จะเล่นอีก” “ไม่ต่อรองนะ เราจะต้องเก็บของให้เรียบร้อย ถ้าหนูไม่เก็บของเล่นเอง แม่ก็จะเก็บให้ แต่แม่จะไม่อ่านนิทานให้หนูฟังนะ”

คุณจะเห็นว่านิคกำลังคิดอยู่ เขามองดูแม่อย่างจริงจังสักพักหนึ่ง แล้วหันไปเล่นเงียบๆ อีกครั้ง โดยหวังว่าเดี๋ยวแม่ก็คงลืม หลังจากนั้นสักพัก แม่ก็อุ้มเขาไปที่เตียง จูบหน้าผาก และพูดด้วยน้ำเสียงที่เป็นมิตรว่า “แม่จะไปเก็บของเล่นของลูกนะ แล้วพรุ่งนี้หนูถึงจะได้ฟังนิทานกัน”

นิค ขว้างปาสิ่งของอย่างเกรี้ยวกราดและกรีดร้องเสียงดัง โดยหวังว่าแอนจะเปลี่ยนใจ แต่เธอกลับออกจากห้องไปเงียบๆ หลังจากนั้นสักพัก เธอกลับเข้ามาตรวจดูเขา แล้วพบว่าเขาหลับไปแล้ว วันรุ่งขึ้น นิคไม่อิดออดในการที่จะเก็บของเล่นให้เรียบร้อยก่อนถึงเวลาเข้านอนเลยได้ผลและแสดงถึงการให้เกียรติลูก จากเหตุการณ์นี้ นิคเรียนรู้ข้อกำหนดที่ชัดเจน เขาได้ลองทดสอบข้อกำหนด เพื่อที่จะดูว่าแม่ของเขาจริงจังแค่ไหน และตอนนี้เขารู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เมื่อลูกรู้ว่าคุณเอาจริงในสิ่งที่คุณพูด ชีวิตคุณจะเป็นเรื่องง่ายและมีความสงบสุข และนั่นหมายรวมถึงชีวิตลูกด้วย

แอนไม่ใช้วิธีการที่ผู้ปกครองทั่วไปใช้ในการสร้างวินัยให้กับลูก เช่น การเกลี้ยกล่อม ติดสินบน ตัดสินใจฝ่ายเดียว เตือน ตะโกน ดุด่า ข่มขู่อย่างไร้เหตุผล หรือตบตีแล้วเธอทำอะไรล่ะ? มันง่ายมากๆ เลย เธอให้ทางเลือกแก่เขาว่า จะเก็บของเล่นให้เรียบร้อย หรือ จะไม่มีการเล่านิทานก่อนนอน และเธอก็เคารพในการตัดสินใจของเขา ปล่อยให้เขาเผชิญกับผลลัพธ์ที่ตามมาจากสิ่งที่เขาตัดสินใจ การให้เด็กตัดสินใจ (ภายใต้ขอบเขตที่จำกัด) และเรียนรู้กับผลลัพธ์ที่ตามมานั้น คือวิธีการสร้างระเบียบวินัยที่แสดงถึงการยอมรับนับถือและมีประสิทธิภาพ

วิธีนี้ไม่ใช่วิธีการเดียวที่มีประสิทธิภาพและแสดงถึงความยอมรับนับถือนะ ในทุกบทที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้วิธีการสร้างระเบียบวินัยให้กับลูกมาโดยตลอด เช่น การเพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม การหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่ไม่จำเป็น การให้กำลังใจ การรับฟัง การหาเวลาสำหรับการแนะนำ การช่วยให้ลูกๆ แสดงอารมณ์ที่ควบคุมเขาอยู่ออกมา การสื่อสารโดยการขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า “ฉัน” การพูดอย่างให้เกียรติ การไม่ใช้น้ำเสียงก้าวร้าว และวิธีที่มีประสิทธิภาพมากสุด คือ การให้ความสนใจในทางบวกแก่ลูก ทักษะเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการมีระเบียบวินัยที่ดี แต่ทั้งนี้ผู้ปกครองจะทำไม่สำเร็จหากไม่ได้ตั้งข้อกำหนดไว้ให้ชัดเจน เช่นเดียวกันกับการแสดงความรัก



บทที่ 5 การฝึกวินัย

เรียนรู้จากผลลัพธ์ที่ตามมา

ผู้ปกครองจำนวนมากมักจะขู่ลูกว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากลูกไม่เข้านอน ไม่กินข้าว ไม่หยุดทะเลาะกัน และบ่อยครั้งที่ผู้ปกครองจะไม่ทำตามที่พูด พวกเขาพูด แต่ไม่ลงมือทำจริง ซึ่งทำให้ลูกๆ เรียนรู้ว่าเขาสามารถเพิกเฉยต่อการขู่ลอยๆ ได้เมื่อลูกต้องอยู่กับผลลัพธ์ที่ตามมาเขาจะเรียนรู้เรื่องขอบเขตข้อจำกัดที่ชัดเจน พวกเขาได้เรียนรู้ชีวิตจริง และทำให้เขาเกิดความรับผิดชอบมากขึ้น ผู้ใหญ่ก็เรียนรู้ผลลัพธ์ที่ตามมาเหมือนกัน เช่น การใช้เงินมากไป ดื่มเหล้ามากไป ลืมอะไรบางอย่าง ขับรถประมาท พวกเขาเรียนรู้โดยไม่ได้รับการปกป้อง ความรับผิดชอบของลูกจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อได้ฝึกตัดสินใจ และเรียนรู้จากผลลัพธ์ที่เกิดตามมา ทั้งในด้านที่ดีและไม่ดี ตัวอย่างเช่น

อันนา หนูน้อยวัย 1 ขวบ กำลังเพลิดเพลินอยู่ในกระบะทรายหลังบ้านที่พ่อของเธอสร้างขึ้น เมื่อเธอเอาทรายเข้าปาก พ่อของเธอจะอุ้มเธอเข้าบ้าน เช็ด ปัดเศษทราย และให้เธอเล่นในห้องนั่งเล่นแทน โดยพ่อเลือกที่จะเพิกเฉยกับการที่เธอร้องไห้โวยวายขอออกไปเล่นข้างนอก หลังจากนั้นไม่นาน พ่อของเธอก็พาเธอออกไปเล่นในกระบะทรายอีก เธอเล่นเงียบๆ สักพักหนึ่งแล้วตัดสินใจชิมทรายอีกครั้งหนึ่ง ภายในชั่วพริบตา เธอถูกนำกลับเข้าไปในห้องนั่งเล่นเป็นเวลาประมาณ 5 นาที พ่อเช็ดปากของเธอ แล้วเธอได้ออกไปเล่นที่กระบะทรายอีกครั้ง และเมื่อเธอเอาทรายเข้าปากอีก เธอก็จะถูกอุ้มเข้าบ้าน นั่งเล่นในห้องนั่งเล่น และเธอจะได้กลับไปเล่นทรายในกระบะเมื่อผ่านไป 10 นาที เธอค่อยๆ เรียนรู้ว่าการเอาทรายเข้าปากนั้นส่งผลลัพธ์ที่ไม่ดีต่อเธอ แม้ว่าเด็กทารกจะยังไม่รู้จักคำศัพท์ แต่พวกเขาก็สามารถเรียนรู้ได้จากผลลัพธ์ที่เขาเลือก การออกจากสถานการณ์คือทางเลือกคุณอาจจะโต้เถียงว่าอันนาไม่ได้มีทางเลือกสักหน่อย พ่อของเธออุ้มเธอออกจากทรายในแต่ละครั้ง โดยที่ไม่ได้ปรึกษาเธอ ซึ่งมันก็จริง แต่ถ้าหากว่าอันนาโตกว่านี้ พ่อของเธออาจคุยตรงๆ กับเธอ โดยแสดงถึงความยอมรับนับถือว่า “ถ้าหนูเอาทรายเข้าปากอีก พ่อจะให้หนูเข้าบ้าน” แต่ว่าเธอยังเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจ ยิ่งไปกว่านั้นเธอสามารถเรียนรู้ได้เร็ว และจริงๆ แล้วเธอมีทางเลือก คือ เล่นทรายโดยไม่เอาทรายเข้าปาก มิฉะนั้นก็จะถูกย้าย เธอเรียนรู้ได้โดยไม่ถูกดุด่าว่ากล่าว ทำโทษ หรือวิธีการอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดี

เราเห็นได้จากตัวอย่างนี้ว่า การให้เด็กอยู่กับผลลัพธ์ที่ตามมานั้น ไม่ได้หมายความว่าให้เด็กอยู่กับสิ่งที่อาจทำอันตรายทั้งต่อตนเองหรือผู้อื่น มันไม่มีทางที่คุณจะให้ลูกวัยแบเบาะเรียนรู้ผลลัพธ์ที่ตามมาจากการวิ่งข้ามถนน ในขณะที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกคุณและคนอื่นๆ อย่างนี้คงนำมาใช้ฝึกไม่ได้ ถ้าลูกอายุ 15 เดือน ค้นพบวิธีการเปิดประตูออกนอกบ้านหรือปลดเข็มขัดนิรภัยที่นั่ง คุณต้องหาวิธีป้องกันที่จะทำให้เธอปลอดภัย บางทีการพูดคุยหาวิธีแก้จากผู้ปกครองคนอื่นหรือทดลองด้วยตนเองจนกว่าจะเจอวิธีที่ช่วยแก้ปัญหาได้ แต่มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะให้เด็กสำรวจบริเวณแวดล้อมของตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่เขาจะได้มีพื้นที่ที่คุ้นเคยปลอดภัย รู้สึกเป็นอิสระที่จะสำรวจและเล่น และนั่นหมายถึงว่าไม่มีทางที่คุณจะพูดห้ามตลอดไป แต่อย่างไรก็ตามคุณก็ควรจะทำการป้องกันอันตรายร้ายแรง เช่น ดูแลเรื่องปลั๊กไฟ เตาไฟ ซึ่งในกรณีเหล่านี้คุณควรจำกัดทางเลือกที่จะให้ลูกเรียนรู้อย่างเคร่งครัด จำกัดกิจกรรมหรือย้ายให้ลูกเข้าไปเล่นในที่กั้น หรืออาจจะย้ายห้อง เรื่องนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพฤติกรรมที่เป็นอันตราย หรือพฤติกรรมต่อต้านที่ลูกของคุณพยายามทำ ไม่ว่าจะเป็นการกัด ตี ถ่มน้ำลาย นอนดิ้นโวยวายในร้านค้า


บทที่ 5 การฝึกวินัย

คุณแม่คนหนึ่งเล่าว่า การอุ้มลูกออกจากร้านรองเท้าและไม่ซื้อรองเท้าให้เขาเป็นการเตือนสติเธอเป็นอย่างมาก แม้ว่าเขาจะร้องไห้โวยวายพยายามเรียกร้องให้แม่ซื้อรองเท้าให้เขา แต่เมื่อเธอพาเขากลับมาที่ร้านอีก 2-3 วันถัดไป เขารู้ขอบเขตข้อจำกัดของตนเองและไม่ต่อต้านโวยวายอีก

การให้ทางเลือก

เคล็ดลับของการช่วยให้ลูกเรียนรู้จากผลลัพธ์ที่ตามมา คือ การทำตามที่คุณพูด เอาจริง และพูดให้น้อยลง (พวกเราหลายคนให้ความสนใจกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมด้วยการพูดที่มากเกินไป และทำตามที่พูดน้อยเกินไป) บางครั้งมันหมายถึงการที่คุณจะนำตัวเขาออกจากสถานการณ์ที่เป็นอันตราย เพื่อให้เขาเรียนรู้จากผลลัพธ์ที่ตามมาว่าพฤติกรรมนั้นไม่เป็นที่ยอมรับ เช่น ลูกปฏิเสธที่จะกินข้าว คุณก็ต้องไม่ให้เขากินขนม ในเมื่อคุณให้ทางเลือกแก่เขา การที่คุณให้ลูกเรียนรู้ผลลัทธ์ที่ตามมานั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น เมื่อคุณบอกเขาว่า “แม่จะให้สิ่งนี้แก่หนูเมื่อหนูขออย่างสุภาพ” คุณสามารถเพิกเฉยคำเรียกร้องของลูกจนกว่าเขาจะพูดจาสุภาพหรือเป็นที่น่าพอใจ เมื่อคุณบอกว่า “เสียงโวยวายทำให้แม่ปวดหัว ถ้าหนูจะโวยวาย ให้ออกไปข้างนอกนะ” และคุณก็ต้องทำตามนั้น เช่นว่าหากเขายังทำเสียงโวยวายอีก คุณก็อาจจะให้ทางเลือกเพิ่มเช่น “โอเค หนูตัดสินใจว่าจะออกไปข้างนอกใช่ไหม หนูจะออกไปข้างนอกเอง หรือให้แม่พาออกไป”

คุณเห็นประสิทธิภาพของการให้ทางเลือกซึ่งส่งผลให้ลูกให้ความร่วมมือไหม? คุณจะหยุดเคี่ยวเข็ญให้ลูกๆ ทำอะไรเมื่อคุณค้นพบความมหัศจรรย์ของการให้ทางเลือกที่จำกัด  การให้ทางเลือกดึงให้ลูกเข้ามามีส่วนร่ว,เนื่องจากเป็นการให้อำนาจในการตัดสินใจถึงสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อตัวเธอเอง หากเธอลังเลที่จะเข้านอน คุณอาจลองคุยว่า “หนูอยากใส่ชุดกระโปรงนอน หรือชุดกางเกงนอน?” ในเวลาที่เขาต้องการเอาของเล่นทั้งหมดไปเล่นกับเพื่อน เขาอาจจะหงุดหงิดโวยวายหากคุณบอกว่า “หนูเอาไปได้อย่างเดียวนะ” แต่เขาจะให้ความร่วมมือมากขึ้นหากคุณบอกว่า “หนูเลือกเอาไปได้อย่างเดียวนะ หนูจะเอาลูกบอลหรือหนังสือ?” เช่นเดียวกัน ในกรณีที่คุณพยายามสร้างระเบียบวินัยให้กับหนูน้อยที่เลือกกิน คุณอาจจะเริ่มจากให้สัดส่วนอาหารที่น้อย ทำให้ลูกรู้สึกมีส่วนร่วมในการกินโดยการให้ทางเลือกก่อนมื้ออาหาร แต่อย่าตกเป็นเหยื่อในการให้ทางเลือกที่มากเกินไป เช่น “แม่มีไส้กรอก ถั่ว และขนมปังปิ้งหนูจะเอาอะไรดี” หรือ “หนูจะทานถั่วหนึ่งช้อนเต็มหรือสักครึ่งช้อนดี?” คุณสามารถช่วยเด็กที่ตัดสินใจช้าให้มีส่วนร่วมในการเลือก โดยให้คุณถามอย่างเรียบว่า “ถ้าหนูไม่ตัดสินใจด้วยตัวเองในตอนนี้แม่จะตัดสินใจให้หนูเองนะ” คุณควรระมัดระวังเรื่องน้ำเสียง อย่าทำลายบรรยากาศด้วยการพูดด้วยน้ำเสียงที่หมดความอดทน!

ติดตามตัวอย่างต่อไปในตอนหน้านะครับ

# หมอมินพระราม 6


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์