ทำอย่างไรไม่ให้ลูกขี้โมโห

ทำอย่างไรไม่ให้ลูกขี้โมโห

คือหนึ่งในคำถามยอดฮิตของการเป็นจิตแพทย์เด็กที่มักถูกถามมาเป็นประจำ หมอมักจะถามกลับไปว่า เวลาลูกโมโหพ่อกับแม่ แก้สถานการณ์อย่างไรในตอนนั้น ลองตอบคำถามนี้ดูก่อนอ่านต่อนะครับ

พ่อแม่ส่วนใหญ่มักตอบว่า พยายามบอกลูกว่า อย่าโมโหนะ ใจเย็นๆ ฯลฯ 

(พร้อมอธิบายเหตุผลกับลูกว่าทำไมไม่ควรโมโห)หมอถามพ่อแม่กลับไปว่า ถ้าเราเองกำลังโมโห แล้วมีคนมาบอกด้วยประโยคเดียวกัน เราจะรู้สึกดีขึ้นหรือเปล่า?ถ้าไม่ เราอยากได้ยินประโยคแบบไหน ที่ฟังแล้วจะรู้สึกดีขึ้น 

ประโยคนั้น ก็น่าจะเหมาะที่จะไปพูดกับลูกมากกว่า

     มีประเด็นเรื่องอารมณ์ขี้โมโหของเด็กที่หมอจะสรุปให้ฟังครับ

     1. อารมณ์โมโห โกรธ หงุดหงิด (รวมถึงอารมณ์ด้านลบอื่นๆ เช่น เศร้า เสียใจ ท้อใจ ฯลฯ) ไม่ใช่เรื่องแย่ ที่พ่อแม่ต้องไปหงุดหงิดตามแต่เป็นโอกาสที่ดีที่จะสอนให้ลูกรู้จักและเรียนรู้เรื่อง “อารมณ์” โดยเฉพาะอารมณ์ตนเอง

 

     2. อารมณ์เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีผิดถูก 

เป็นเรื่องส่วนบุคคลของคนคนนั้นที่พ่อแม่ก็ไม่มีสิทธิ์บังคับไม่ให้เกิด
หรือบังคับให้ลูกรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ได้ (เพราะแม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ บางทีก็ยังคุมไม่ค่อยได้เลยครับ)ดังนั้น การไปห้ามว่า ลูกอย่าโมโหสิ อย่าโกรธแบบนี้นะ ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ยิ่งทำให้ลูกต้องเก็บกดอารมณ์แทน (เพราะโดนห้าม) กลายเป็นเด็กที่สะสมความโกรธ ขี้ฉุนเฉียว และรอวันระเบิดออกมา

 

     3. เราไม่จำเป็นต้องปฏิเสธหรือห้ามอารมณ์ทางลบพวกนี้ 

เพียงแค่พ่อแม่ “ยอมรับ” ว่ามันเกิดขึ้น และบอกให้ลูกยอมรับมันเช่นเดียวกัน 
พ่อแม่สามารถบอกตัวเองในใจได้ว่า “โอเค ตอนนี้ลูกกำลังโกรธนะ”

 

     4. การบอกให้ลูกยอมรับ ทำได้โดยการ “สะท้อนอารมณ์” 

และไม่จำเป็นต้องสอนอะไรมากมายในช่วงนั้น เช่น

“ลูกกำลังโมโหอยู่นะ” 
“หนูหงุดหงิดอยู่ใช่มั้ยลูก”

การสะท้อนอารมณ์ จะทำให้ลูกเกิดการรับรู้อารมณ์ตัวเองเข้าใจตัวเองขึ้น 
และลูกจะรู้สึกดีขึ้นที่พ่อแม่เข้าใจและยอมรับความรู้สึกของเขาไม่ตัดสินอะไรเขา ทั้งหมดนี้จะทำให้เด็กใจเย็นลงเอง

 

     5. ให้เวลากับลูก ได้ทบทวน และจัดการอารมณ์สักหน่อย 

โดยที่พ่อแม่อาจจะนั่งเป็นเพื่อนอารมณ์กับเขา โดยที่ยังไม่ต้องพูดอะไร 
แต่กรณีที่เราเองก็อารมณ์เสียหรือตัวกระตุ้นให้ลูกโมโห คือเราเองอาจต้องปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียวก่อนโดยบอกลูกสั้นๆด้วยท่าทีสงบว่า “ไว้ลูก (กับแม่) อารมณ์ดีขึ้น เราค่อยมาคุยกันต่อนะ”

 

     6. เมื่ออารมณ์ดีขึ้น จึงเป็นช่วงที่พ่อแม่กับลูกได้มาทบทวน เรียนรู้ร่วมกัน 

สอดแทรกคำสอนกับลูกได้ครับ (รีบสอนตอนลูกกำลังโมโห ไม่ได้ประโยชน์อะไร)

 

     7. การฝึกให้ลูกรับรู้อารมณ์ตัวเองบ่อยๆ 

จะทำให้ลูกเกิดความตระหนักกับอารมณ์ตนเอง ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนา EQ และรู้จักจัดการอารมณ์ตนเองได้อย่างเหมาะสม ไม่กลายเป็นเด็กขี้โมโหครับ

 

     8. สำคัญมากคือ คงเป็นไปไม่ได้ หากพ่อแม่ อยากให้ลูกอารมณ์ดี แต่พ่อแม่ยังคงเกรี้ยวกราดกับลูกทุกวันการเป็นตัวอย่างในเรื่องการควบคุมอารมณ์สำคัญมากๆๆๆครับ

 

สรุปใจความสำคัญ ในบทความนี้ว่าทำอย่างไรไม่ให้ลูกขี้โมโหคือ“ยอมรับ สะท้อนอารมณ์ และเป็นตัวอย่างที่ไม่ขี้โมโห” ครับ

‪#‎หมอไปป์_แฮปปี้คิดส์‬

Credit ภาพ: http://www.qykapp.com/art…/ways-to-deal-with-an-angry-child/


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์