ทำอย่างไรเมื่อลูกไปแกล้งคนอื่น

ทำอย่างไรเมื่อลูกไปแกล้งคนอื่น

ปกติแล้ว เด็กจะไม่รังแกข่มเหงกัน นอกเสียจากว่ามีความกลัวบางอย่างแฝงเร้นอยู่ โดยเฉพาะในกรณีที่มีปมด้อยในใจ เด็กเกเรมักจะพยายามแสดงออกว่าตัวเองเข้มแข็ง ทั้งที่ความจริง เป็นคนอ่อนแอ เด็กที่ชอบแกล้งคนอื่นก็เพราะมีความกดดันในใจบางอย่าง ถ้าลูกคุณถูกคนอื่นรังแก การที่เขาจะป้องกันตัวเองด้วยกำลังบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร แม้ว่าคุณจะไม่สนับสนุนความรุนแรงก็ตาม และในกรณีที่ลูกของเรานั้นเป็นคนไปแกล้งคนอื่นล่ะ ต้องทำอย่างไร

1.สอนลูกให้มี empathy

วิธีแรกที่จะช่วยให้ลูกนั้นไม่ไปรังแก ทำร้าย หรือ เอาเปรียบผู้อื่น นั่นคือ คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะพัฒนาให้ลูกนั้นมี “ความเข้าอกเข้าใจในความรู้สึกของผู้อื่น” หรือ empathy ซึ่งสามารถเริ่มต้นทำได้ตั้งแต่ลูกอายุประมาณ 3 ขวบ โดยเริ่มจากการตั้งคำถามที่เกี่ยวกับ “ความรู้สึก” กับลูก เช่น

     -“สิ่งที่หนูทำไปนั้นมันทำให้คนอื่นรู้สึกอย่างไร”

     -“ถ้าหนูเป็นคนๆนั้น หนูจะรู้สึกอย่างไร”

     -“ถ้ามีคนมาทำอย่างนี้กับหนูบ้าง หนูจะรู้สึกอย่างไร” เป็นต้น

2.สอนลูกให้รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไป

หากลูกของคุณชอบรื้อของเล่นออกมาเล่น แล้วไม่ยอมเก็บเข้าที่ การที่คุณแก้ปัญหาด้วยการตามเก็บของให้เขาในขณะที่เขาไปลั้ลลาอยู่ที่อื่น จะทำให้ลูกนั้นกลายเป็นคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ และ ไม่สนใจในผลของการกระทำของตัวเองว่ามันไปทำให้ใครต้องเดือดร้อนบ้าง

ซึ่งแน่นอนว่า ขนาดความรู้สึกของพ่อแม่ (ปู่ย่าตายาย) ลูกนั้นยังไม่สนใจ แล้ว ความรู้สึกของลูกคนอื่นเขาจะสนใจหรือ

3.หาโอกาสให้ลูกได้ช่วยเหลือผู้อื่น

เพราะการช่วยเหลือผู้อื่น ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยๆ เช่น ช่วยหยิบของให้พ่อแม่ ไปจนถึง ช่วยทำงานบ้าน จะทำให้ลูกมองเห็น ปัญหา และ ความทุกข์ใจ ของผู้อื่น  นอกจากนั้นลูกจะยังได้พบว่าเขานั้นสามารถทำให้คนอื่นรู้สึกดี และมีความสุขขึ้นได้ ซึ่งหากเขามีความภูมิใจกับตนเองในเรื่องนี้ นอกจากเขาจะไม่แกล้งเพื่อนแล้ว เผลอๆเขาอาจจะกลายเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือเพื่อนเสียด้วยซ้ำ

4 เลี้ยงลูกให้มีความภาคภูมิใจในตนเอง

ความภาคภูมิใจในตนเองนั้นเปรียบเสมือนยาครอบจักรวาล(ประมาณพาราเซตามอล) ที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขสารพัดปัญหาทางสุขภาพจิตที่อาจจะเกิดกับลูกของคุณ เนื่องจากความภาคภูมิใจในตนเองนั้นหมายถึง ความรู้สึกว่าตัวเองนั้น เป็นคนเก่ง เป็นคนดี เป็นที่รัก ซึ่งแน่นอนว่าเด็กที่มีความรู้สึกแบบนี้ จะทำ “ทุกวิถีทาง”เพื่อให้ตัวเขายังคงรู้สึกอย่างนั้นต่อไป และ เขาจะยังพยายาม “หลีกเลี่ยง” การทำสิ่งใดก็ตามที่จะทำลายความรู้สึกเหล่านี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกที่ว่าตัวเองนั้นเป็น “คนดี”)

และในทางตรงกันข้าม เด็กที่มักจะชอบแกล้ง หรือ รังแกผู้อื่น ส่วนหนึ่งก็มักจะมาจากความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง หรือ ความรู้สึกว่าตัวเองนั้นมีปมด้อย โดย เฉพาะอย่างยิ่งหากการเลี้ยงดูที่บ้านนั้นมีการใช้คำพูด หรือ การลงโทษที่รุนแรงกับเขา

ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เด็กๆใช้การรังแกผู้อื่นเพื่อระบายความรู้สึกคับข้องใจที่เกิดจากที่บ้าน และ เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าตัวเขาเองนั้น “เจ๋ง” แค่ไหน (ซึ่งจริงๆแล้วเป็นความ “กลัว”ว่าคนอื่นจะไม่รู้ว่าเขาเจ๋งเสียมากกว่า)

5.คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่เป็นคน “ขี้แกล้ง” เสียเอง

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กๆมักจะไปแกล้ง หรือ แหย่คนอื่นที่โรงเรียน คือการที่เด็ก “เข้าใจผิด” ว่า การแกล้ง หรือ แหย่คนอื่นเพื่อความสนุกนั้นเป็น “เรื่องปกติ” ซึ่งความคิดความเชื่อแบบนี้ก็มักจะเริ่มต้นมาจากการที่สมาชิกในครอบครัวนั้นก็ชอบแกล้ง หรือ แหย่กัน จนกว่าคนที่ถูกแหย่จะโกรธหรือ โมโหจึงจะเลิก หากคุณจะล้อเล่น แหย่ หรือ แกล้งใครก็ตาม คุณต้องคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ที่ถูกแกล้งด้วย หากเขาก็รู้สึกสนุกสนานและอยากที่จะแกล้งคุณกลับบ้างก็คงจะไม่เป็นไร

แต่หากเขารู้สึกแย่กับสิ่งที่คุณทำ และ คุณก็ยังแกล้งเขาไม่เลิกจนกระทั่งเขาร้องไห้ หรือ โมโห แบบนั้นก็แสดงว่าคุณก็อาจจะเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่สนใจว่าสิ่งที่คุณทำนั้นมันทำให้ผู้อื่นรู้สึกอย่างไร

สุดท้ายนี้ หากคุณพ่อคุณแม่ได้พยายามปรับแก้ทุกอย่างตามที่แนะนำไปแล้วก็ยังไม่ได้ผล ก็อาจจะเตือนลูกของตัวเอง ว่าเหนือฟ้าอาจจะยังมีฟ้า เพราะอีกไม่นาน เพื่อนๆที่เคยถูกเขาแกล้งนั้น จะมาโรงเรียนด้วย ท่าทางองอาจดั่งจูล่ง เสียงดังอย่างเตียวหุย และ มีสายตาอันดุดันราวกับเทพเจ้ากวนอู ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นแล้วตัวลูกจะลำบาก

 

ขอบคุณข้อมูลจาก หมอตั้ม :เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ

 

 


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์