คุณแม่ควรรู้!!! 6 ปัญหาการรบกวนการนอนของลูกน้อย

คุณแม่ควรรู้!!! 6 ปัญหาการรบกวนการนอนของลูกน้อย

ช่วงเดือนแรกๆ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องเจอกับปัญหา ลูกปวดท้องโคลิก, ความหิว, ฟันกำลังขึ้น, เจ็บป่วยเฉียบพลัน, เจ็บป่วยเรื้อรัง, ลูกติดคุณพ่อคุณแม่มาก ที่จะรบกวนลูกน้อยในยามหลับซึ่งจะต้องเตรียมรับมือ โดย พญ.ธิดาวรรณ วีระไพบูลย์ กุมารแพทย์ จะมาให้คำแนะนำวิธีการรับมือกับปัญหาทั้ง 6 ดังนี้ค่ะ

1. ปวดท้องโคลิก (หรือ ร้องร้อยวัน)

เด็กทารกที่เป็นมักจะเริ่มมีอาการโคลิกตั้งแต่ประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังคลอดปวดท้องโคลิกเป็นอาการซึ่งไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดเด็กจะร้องไห้ ซ้ำๆในช่วงเวลาเดิมๆ โดยมากจะเป็นช่วงเวลาเย็นๆใกล้ค่ำ หรือช่วงรอยต่อระหว่างกลางวันและกลางคืน อาการอาจจะรุนแรงขึ้นในช่วงอายุ 6-8 สัปดาห์ แล้วหายไปเองเมื่อเด็กอายุประมาณ 3 เดือน การให้ยาขับลมอาจได้ผล การอุ้มพาดบ่าหรือให้นอนคว่ำบนตักคุณพ่อคุณแม่ พร้อมลูบหลังไปด้วยอาจช่วยบรรเทาอาการ

ข้อสังเกต

– ลูกร้องคล้ายปวดท้อง โดยเกร็งท้อง มือ และขางอเข้าหาตัว

– ร้องเป็นระยะ วันละ 1-2 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นตอนเย็นหรือค่ำ โดยมีอาการครั้งละ 1-2 ชั่วโมง

– ระหว่างที่ไม่มีอาการลูกดูปกติ แข็งแรงดี

– ไม่มีอาการแสดงว่าหิว

Can do : ให้อุ้มลูกเดินไปมาเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ หรือเปิดเพลงเบาๆเพื่อผ่อนคลายความเครียดทั้งตัวคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อย

2. ความหิว

เนื่องจากทารกที่อายุยังไม่ถึง 6 เดือน โดยมากมักจะตื่นมากลางดึกเพราะหิว หลังจากให้นมยามดึก เด็กโดยมากก็สามารถนอนหลับต่อได้เองค่ะ แต่สำหรับบางคนที่อายุเกิน 6 เดือนไปแล้วก็ยังคงตื่นมากลางดึกเพื่อกินนม แต่หากคุณแม่แน่ใจว่าลูกได้รับนมอย่างพอเพียงช่วงก่อนนอน แต่ลูกยังคงร้องในยามดึก ก็อาจจะเป็นเพราะความเคยชินของลูกก็เป็นได้

ข้อสังเกต

– ลองจดบันทึกการนอนและการกินในรอบวันของลูก โดยบันทึกทั้งพฤติกรรม เช่น การดูดไปเรื่อยๆ การดูดอย่างหิวโหย เวลาที่ใช้ในแต่ละมื้อ รวมทั้งระยะห่างระหว่างมื้อ

– หากลูกดูดไปเรื่อยๆ อาจเป็นไปได้ว่าเพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่ใช่เพราะความหิว ต้องพยายามให้หยุดกินเมื่อรู้สึกว่าอิ่มแล้ว หลังจากนั้นพาเข้านอน

Can do : เมื่อลูกร้องควรรอสัก 5 นาที ก่อนเข้าไปหา เพราะลูกอาจหลับต่อได้ด้วยตัวเอง หรือหากสังเกตว่าลูกเคยชินกับนมมื้อดึกมากกว่าเป็นเพราะหิว ลองให้น้ำแทนนม อาจค่อยๆผสมนมให้เจือจางลงเรื่อยๆ และค่อยๆลดเวลาของการให้นมแต่ละครั้ง

3. ฟันกำลังขึ้น

โดยทั่วไปเด็กทารกเริ่มมีฟันขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือนและจะต่อเนื่องไปจนอายุ 3 ปี โดยทารกแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาต่อความเจ็บปวดที่แตกต่างกันไป คุณแม่สามารถช่วยให้ลูกน้อยหายเจ็บปวดและช่วยให้คุณและลูกน้อยนอนหลับสนิทใน ตอนกลางคืนได้ดังนี้ค่ะ

– ยาพาราเซตามอลสำหรับเด็กช่วยให้ดีขึ้น (เหมาะ กับเด็กอายุ 3 เดือนขึ้นไป) หรืออาจใช้เจลสำหรับทาฟันที่กำลังขึ้นเพื่อให้รู้สึกชา ซึ่งเมื่อทาแล้วเด็กจะรู้สึกชาเพื่อบรรเทาอาการปวด และให้เด็กนอนหลับในช่วงดังกล่าว แต่ข้อนี้ต้องปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยานะคะ

– ใช้สมุนไพรไทย เช่น ใบแมงลักโขลกให้ละเอียดผสมเกลือเล็กน้อย ทาบริเวณเหงือกที่ปวดของลูก อาจช่วยบรรเทาอาการได้ หรือต้มใบสะระแหน่ 5 กรัม กับน้ำ 1 ถ้วย ผสมเกลือเล็กน้อย ดื่มวันละ 1 ถ้วย ผสมเกลือเล็กน้อย ดื่มวันละ 2
ครั้ง

ข้อสังเกต

– ลูกมีอาการหงุดหงิด งอแงมากขึ้น และร้องมากขึ้นในเวลากลางคืน

– น้ำลายไหลมาก แก้มของลูกจะเป็นสีแดง เหงือกของลูกจะบวมแดง

– ลูกอยากดูดนมแม่หรือนมขวดมากขึ้น

– ลูกจะนอนหลับไม่สนิท

Can do : ถ้าเหงือกของลูกไม่บวมหรือเจ็บจนแตะไม่ได้ ให้คุณแม่ล้างมือให้สะอาดแล้วลองใช้นิ้วเข้าไปนวดเหงือกของลูกเบาๆ อาจช่วยให้ดีขึ้นได้ แต่หากเหงือกมีอาการบวมแดงมาก ควรปรึกษาหมอฟัน

4.เจ็บป่วยเฉียบพลัน

การที่คุณแม่สังเกตเห็นถึงความผิดปกติต่างๆ เวลาที่ลูกป่วยไข้ไม่สบายนั้น ข้อมูลจากคุณแม่เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้คุณหมอวินิจฉัยอาการและรักษาลูกน้อยได้ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น เช่น อาการไข้ การกินนม อาเจียน การขับถ่าย หรืออาการอื่นๆ

ข้อสังเกต

– งอแง ไม่ยอมกินนม อาหาร

– มีไข้ ซึมผิดปกติ อาเจียน หรือท้องเสีย หรือมีผื่นขึ้นตามตัว

– ต้องการให้อุ้มตลอดเวลา

– หอบ หายใจไม่สะดวก หรือมีอาการชัก

Can do : หมั่นสังเกตอาการของลูก หากลูกมีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที อย่าลืมจดอาการที่เป็น อาหารที่กิน พฤติกรรมการเล่น ก่อนเกิดอาการ เพื่อแจ้งกับคุณหมออย่างละเอียด

5.เจ็บป่วยเรื้อรัง

เด็กบางคนมีโรคประจำตัวเช่น หอบ หืด ภูมิแพ้ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความอบอุ่นอยู่ใกล้ๆลูก ขณะหอบลูกน้อยจะนอนลำบาก คุณแม่ควรให้ยาตามที่คุณหมอสั่งและอุ้มลูกน้อยไว้บนตักประคองตัวลูกไว้ อาจมีหมอนวางบนตักลูกน้อย เพื่อลูกน้อยจะได้ซบหน้าลงบนหมอนนั้นจนกว่าจะหายใจสะดวกขึ้น ถ้าไม่ดีขึ้นควรไปพบคุณหมอ

ข้อสังเกต

– หลีกเลี่ยงข้าวของเครื่องใช้ที่สะสมฝุ่น

– ไม่นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในห้องนอนลูก

– ใช้ผ้าปูที่นอนชนิดพิเศษซึ่งป้องกันไรฝุ่นได้

– ดูดฝุ่นเครื่องนอนของลูกอย่างสม่ำเสมอ

– คอยสังเกตและเตรียมรับมือกับอาการป่วยของลูกไว้ให้พร้อมค่ะ

Can do : ถ้าลูกมีอาการเจ็บป่วยเรื้องรังอื่นๆที่รบกวนการนอนให้ปรึกษาคุณหมอถึงวิธีการช่วยบรรเทาอาการของโรคนั้นๆ เพื่อให้ลูกหลับได้สบายขึ้นในตอนกลางคืน

6. ลูกติดพ่อแม่มาก

เด็กบางคนติดพ่อแม่มากกว่าเด็กคนอื่น หลายคนเริ่มติดพ่อแม่ในขั้นของพัฒนาการด้านการรับรู้สภาพความเป็นจริง ซึ่งอยู่ในช่วงอายุประมาณ 8 เดือน เด็กเริ่มเรียนรู้ว่า พ่อแม่และลูกไม่ใช่คนเดียวกัน ส่วนใหญ่จึงแสดงออกด้วยการติดพ่อแม่มากขึ้นในระยะนี้กินเวลาประมาณ 2 เดือน ควรฝึกให้ลูกนอนหลับได้เองก่อนเข้าสู่ช่วงนี้ แม้ช่วงนี้จะยังฝึกให้เขาสงบด้วยตัวเองได้ยากขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจหาวิธีที่คิดว่าเสริมความมั่นใจกับลูกในระดับที่เขาต้องการ และใช้เวลาสักระยะก่อนตัดสินใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น ลูกจะเข้าใจในที่สุดว่าการที่คุณพ่อคุณแม่จากไปไม่ใช่การทอดทิ้งเขา

Can do : วิธีฝึกลูกน้อยให้หลับสบาย

– พาลูกไปนอนบนเตียงขณะที่ลูกยังตื่นอยู่ทุกครั้ง หากลูกหลับอาจกระตุ้นที่นิ้วหัวแม่เท้าให้ตื่นขณะวางลงบนเตียง

– พูดกับลูกด้วยประโยคเดิมทุกครั้งเมื่อพาลูกไปนอนบนเตียง เพื่อช่วยกระตุ้นเตือนให้ทราบว่าได้เวลานอนแล้ว

– ให้ลูกหลับเองด้วยวิธีเดียวกัน ไม่ว่าจะพาลูกไปนอนบนเตียงตอนกลางคืน งีบหลับตอนกลางวัน หรือพากลับไปนอนในกรณีตื่นขึ้นมากลางดึก

– ควบคุมทั้งอากาศ เสียง แสงแดด บรรยากาศต่างๆ เพื่อให้ลูกนอนหลับได้นานและยาวขึ้น





ที่มา : Mumhelper

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์