ข้อคิดจาก วัยแสบสาแหรกขาด 2 หลุมหลบภัยที่กลายเป็นหลุมดำและทำให้ยิ่งถลำลึก

 ข้อคิดจาก วัยแสบสาแหรกขาด 2 หลุมหลบภัยที่กลายเป็นหลุมดำและทำให้ยิ่งถลำลึก


     ที่นี่ดอทคอมขอนำเสนอบทความดีๆ จากหมอมิน จากเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ได้นำเสนอบทความดีๆ เกี่ยวกับปัญหาเด็กติดเกมที่กำลังเป็น1ในภัยร้ายที่สร้างความหนักอกหนักใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองโดยยกฉาก1ในละครสะท้อนสังคมอย่าง วัยแสบสาแหรกขาด โครงการ 2 มานำเสนอ ระบุว่า

"หลุมหลบภัยที่กลายเป็นหลุมดำและทำให้ยิ่งถลำลึกลงไป"

"น้ำตาของบุ๊คไหลออกมา เขาได้ยินชัดเจนว่าพ่อกับแม่กำลังตะโกนเสียงดังใส่กัน ก็ทะเลาะกันเรื่องของเขาเหมือนเดิมนั่นแหละ พ่อหรือแม่พูดออกมาว่า ลูกอย่างเขาเป็นภาระ เอาเถอะ เขาจะพยายามไม่สนใจ หยิบหูฟังขึ้นมาใส่ และเล่นเกมต่อไป

บุ๊คเป็นตัวอย่างของเด็กติดเกมที่มีอยู่จริง เรื่องของบุ๊คมาจากตอนแรกของละครวัยแสบสาแหรกขาดโครงการ 2 หมออยากบอกว่า เหมือนกำลังมองดูชีวิตครอบครัวคนไข้ที่มาตรวจกับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในเกือบทุกวันที่ตรวจคนไข้

 ข้อคิดจาก วัยแสบสาแหรกขาด 2 หลุมหลบภัยที่กลายเป็นหลุมดำและทำให้ยิ่งถลำลึก

ปกติแล้วเด็กที่เล่นเกมทุกคนไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเด็กติดเกม แต่ที่เด็กมีปัญหาสุขภาพจิตจากการเล่นเกม เพราะบางครั้งเด็กบางคนก็ใช้เกมเพื่อเป็นเครื่องมือที่เอาไว้หลบหนีสถานการณ์บางอย่าง เรื่องราวที่ทำให้เจ็บปวดปวด น่าเบื่อ น่ารำคาญ เพราะบางครั้งโลกในความเป็นจริงมันแย่เกินกว่าที่จะเผชิญหน้าอยู่ต่อ เกมจึงกลายเป็นทางออก ให้เด็กใช้เพื่อวิ่งหนีและหลบภัยร้ายทางจิตใจ

มันช่างน่าเศร้าที่ภัยร้ายของเด็กหลายคนเกิดจากคนในครอบครัว เหมือนเช่นที่บุ๊คเป็นอยู่

‘บุ๊ค' หรือชื่อจริงว่า ‘มหาสมุทร' เป็นเด็กวัยรุ่นชั้นม.4 วันที่ชื่อของบุ๊คอยู่ในความสนใจของครูทราย(ครูนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน)ครั้งแรก คือตอนที่แม่ของบุ๊คบุกมาหาครูทรายที่โรงเรียน ด้วยอารมณ์หงุดหงิดเป็นที่สุด แม่ที่พร้อมจะโทษทุกคนตรงหน้าว่าเพราะเหตุใดจึงปล่อยให้ลูกของเธอกลายเป็นเด็กติดเกม

ตั้งแต่พ่อแม่เลิกกัน บุ๊คอยู่กับพ่อเป็นส่วนใหญ่ของชีวิต พ่อที่ดูแลลูกเหมือนไม่ดูแล ใช่ว่าพ่อจะไม่รักบุ๊ค แต่เพราะความไม่เอาอะไรกับชีวิต ปล่อยทุกอย่างไปตามสบาย ลูกอยากเล่นเกม อยากได้โทรศัพท์มือถือก็ซื้อให้ แต่ไม่ได้ปลูกฝังระเบียบการควบคุมตัวเองให้เด็กรู้จักแบ่งเวลาตั้งแต่แรก

ส่วนแม่หลังเลิกรากับพ่อตั้งแต่บุ๊คยังเล็ก แล้วก็ย้ายไปทำงานร้านอาหารที่นิวยอร์ก อเมริกา และส่งเงินมาให้พ่อและบุ๊คใช้เพื่อเรียนหนังสือในโรงเรียนที่ดีและช่วยพ่อผ่อนบ้าน

เมื่อครูทรายตามแม่ไปถึงบ้านบุ๊ค เธอจึงได้เข้าใจว่าที่มาที่ไปของการติดเกมของลูกศิษย์ มาจากสาเหตุสำคัญมากมาย ไล่ตั้งแต่การที่พ่อแม่ที่แม้เลิกรากันแล้วแต่ยังทะเลาะเบาะแว้งอย่างรุนแรง พ่อที่เป็นคนเลี้ยงหลักไม่มีเวลาสนใจ ไม่แม้จะปลูกฝังระเบียบวินัย กับแม่ที่ห่างเหินไปไกลสุดขอบโลกและไม่ได้ให้ความใกล้ชิด

เมื่อเสาหลักในชีวิตลูกไหวเอนไม่มั่นคง แถมเสานั้นเมื่อเจอกันเมื่อไร ก็มักจะฟาดฟันลงมาในใจลูกทุกเมื่อเชื่อวัน กลายเป็นภยันตรายที่เด็กอย่างบุ๊คจำเป็นต้องหาหลุมหลบภัย

 ข้อคิดจาก วัยแสบสาแหรกขาด 2 หลุมหลบภัยที่กลายเป็นหลุมดำและทำให้ยิ่งถลำลึก

ถ้าหลุมหลบภัยของเด็กเป็นเรื่องที่ไม่สร้างผลกระทบ เช่น การมีเพื่อนที่ดีให้ปรึกษา ไปเล่นกีฬาคลายเครียด ไปเล่นดนตรี ฯลฯ เรื่องคงไม่รุนแรงบานปลายอย่างที่เห็น แต่เพราะหลุมหลบภัยของบุ๊คคือ เกมออนไลน์ ซึ่งความสนุกสนานมีเต็มที่และเวลาเล่นก็ทำให้บุ๊คลืมสิ้นทุกอย่างที่ทำให้เจ็บปวด บุ๊คจึงติดมันได้อย่างไม่ทันตั้งตัว


พ่อบุ๊คบอกว่าลูกของเขาไม่ได้ติดเกมหรอก บุ๊คก็แค่เล่นผ่อนคลายเฉยๆ แต่อาการแสดงของบุ๊คเข้าข่าย Internet Gaming disorder หรือเด็กติดเกม

โรคติดเกมนั้นมีอยู่จริง และเป็นสิ่งที่เราทุกคนที่เป็นพ่อแม่ต้องระมัดระวังไม่ให้ลูกของเราที่กำลังเล่นเกมอยู่เกิดภาวะติดเกม หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Internet Gaming disorder ซึ่ง WHO ได้ทำการบัญญัติเอาไว้เรียบร้อยว่ามีโรคนี้อยู่จริง อัตราความชุกของภาวะติดเกมในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 15 คือเด็กร้อยคนติดเกมไปแล้ว 15 คนบางคนบอกว่า ติดเกมก็ยังดีกว่าติดยา จริงๆแล้วไม่ใช่หรอก เพราะคนที่มีภาวะติดเกมมีความผิดปกติของสมองเหมือนคนที่ติดยา

ได้แก่สมองในส่วนของ reward, motivation, memory และ cognitive control และเมื่อติดแล้ว อย่างที่เราเห็นในข่าวว่า มีการควบคุมตัวเองไม่ได้ บางคนขโมยเงินไปเล่นเกม บางคนเล่นเกมจนหัวใจวาย ไม่นับที่เป็นปัญหาการเรียนหรือสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง (เหมือนที่บุ๊คมีปัญหาความสัมพันธ์กับพ่อแม่และครู)

 ข้อคิดจาก วัยแสบสาแหรกขาด 2 หลุมหลบภัยที่กลายเป็นหลุมดำและทำให้ยิ่งถลำลึก

มีการศึกษาพบว่าคนที่ติดเกมนั้นมีความเสี่ยงกับโรคทางกายหลายระบบ เช่น อ้วน อุบัติเหตุ การนอน สายตา กล้ามเนื้อและกระดูก และโรคซึมเศร้า สมาธิไม่ดี การใช้สารเสพติด เป็นต้น

จริงอยู่ว่าคนที่เล่นเกมที่ไม่ติดก็มี แต่ต้องป้องกันตั้งแต่วัยเด็กเล็ก มีปัจจัยป้องกันการติดเกมก็คือ เด็กที่รับผิดชอบและมีวินัย เด็กที่มองเห็นคุณค่าในตัวเอง มีเวลาว่างทำกิจกรรมอื่นๆด้วยนอกจากเล่นเกม เด็กที่คุมเวลาเล่นเกมได้ เด็กที่มีพ่อแม่ที่มีเวลาคุณภาพให้ พ่อแม่มีกฎกติกาชัดเจนในการเล่นเกม ทำกิจกรรมร่วมกันกับเด็กบ่อยครั้ง ปลูกฝังสอนระเบียบวินัยความรับผิดชอบให้เด็ก เด็กรู้จักจัดการอารมณ์ มีอีคิวที่ดี พ่อแม่ที่เข้าใจลูกพูดคุยได้โดยไม่ขัดแย้งกันเกินไป

ซึ่งเราจะเห็นเลยจากในละครว่า บุ๊คและครอบครัวแทบไม่มีปัจจัยป้องกันการติดเกมเลย ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่บุ๊คจะติดเกม

แล้วบุ๊คจะเป็นอย่างไรต่อไป ใครที่จะช่วยบุ๊คให้รอดพ้นจากภาวะติดเกมไปได้ คงต้องไปตามต่อกันในละคร วัยแสบสาแหรกขาดโครงการ 2 ที่กำลังออกอากาศอยู่ในขณะนี้"

 ข้อคิดจาก วัยแสบสาแหรกขาด 2 หลุมหลบภัยที่กลายเป็นหลุมดำและทำให้ยิ่งถลำลึก

เครดิตแหล่งข้อมูล : FB เข็นเด็กขึ้นภูเขา

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์