เด็กขี้แย แก้อย่างไร

เด็กขี้แย แก้อย่างไร

การที่เด็กร้องไห้บ่อยๆ หรือร้องไห้อย่างไม่มีเหตุผล  ไม่ว่าจะจากความรู้สึกเจ็บป่วย จากบาดแผล จากโรคภัยไข้เจ็บ จากความผิดหวัง เสียใจในเรื่องต่างๆ หรือการที่เด็กรู้สึกหงุดหงิด เมื่อไม่ได้รับการตามใจ เด็กที่กำลังเจริญเติบโตจะเรียนรู้ที่จะแสดงความรู้สึก  พ่อแม่ควรกระตุ้นให้เด็กรู้จักใช้คำพูดเพื่ออธิบายว่าอะไรทำให้เด็กรู้สึกอารมณ์ไม่ดี สร้างตัวชี้นำให้เด็กมีพัฒนาการทางพฤติกรรมที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการชื่นชมความสามารถของเด็ก เพื่อไม่ให้เด็กร้องไห้ หรือเพื่อให้เด็กกลั้นการร้องไห้เอาไว้ จนกว่าจะถึงเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม

เด็กวัย 2-5 ขวบนี้เป็นวัยที่กำลังเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ ไม่น่าแปลกใจที่เขาจะใช้วิธีการร้องไห้ งอแง เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเองต้องการ ซึ่งตอนนี้คงต้องขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ในการสอนเขา ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะได้ หรือที่เราไม่ให้เพราะอะไร หากเขาไม่ฟังเพราะกำลังโกรธมากๆ คุณพ่อแม่ควรรอให้เขาสงบลงก่อน จึงค่อยบอกเหตุผล ไม่ควรพยายามอธิบายตอนที่เขาโมโห เพราะเขาจะไม่ได้ฟังเรา

 

    แบบไหนถึงเรียกว่า เป็นเด็กขี้แย

ร้องไห้เก่ง นี่ล่ะอาการเริ่มต้นแล้วล่ะค่ะ ไม่พอใจนิดหรืออยากได้อะไรก็จะร้องไห้นำไปก่อนเลย นี่ยังไม่รวมถึงพอได้ยินเสียงดังเข้าหน่อยก็ร้องไห้แล้วด้วยนะคะ

ชอบเรียกร้องความสนใจ สังเกตง่ายๆ ค่ะ บางทีร้องไห้ไม่มีน้ำตาหรอกค่ะ ร้องแต่เสียง พอคุณแม่เดินมาหา หรือทำอะไรที่ลูกอยากให้ทำก็หยุดร้องไปเสียเฉยๆ

ขี้น้อยใจ ตามมาติดๆ กับอาการขี้น้อยใจ ชอบคิดนั่นคิดนี่แล้วก็เก็บมาน้อยใจ หรือถ้าปล่อยให้อยู่คนเดียวนานไปก็อาจจะทำให้น้อยใจได้

อ่อนไหวง่ายมาก ถ้าลูกไม่เห็นคุณแม่หลังจากที่เขาตื่นนอน บางทีอาจจะทำให้ลูกน้อยใจจนร้องไห้ออกมาได้ค่ะ อาการอ่อนไหวง่ายๆ นี่ อาจจะทำให้ลูกเป็นเด็กขาดความมั่นใจในตัวเองได้ค่ะ

 

    จัดการอย่างไรกับลูกขี้แย

พ่อแม่ต้องใจแข็งอย่าตอบสนองการร้องไห้ของลูกเร็วเกินไปนัก ให้ตั้งสติพิจารณาดีๆ ก่อนว่าการร้องไห้ที่เห็นนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร

ใช้วิธีอื่นแทนการตำหนิ ถ้าลูกขี้แยขี้น้อยใจนี่ ถ้าจะบอกจะสอนอะไรให้หลีกเลี่ยงการใช้คำตำหนิ เพราะการตำหนิจะยิ่งทำให้ลูกคิดนั่นคิดนี่แล้วก็เก็บไว้น้อยใจต่ออีก แบบนี้จะยิ่งทำให้ลูกร้องไห้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

ใช้ไม้อ่อน ถ้าจะพูดจะบอกอะไรขอให้เลือกใช้ไม้อ่อนไว้ก่อนค่ะ ใช้การปลอบโยน น้ำเสียงที่นุ่มนวล ใช้วิธีให้กำลังใจ เพื่อลูกจะได้พยายามทำอะไรด้วยตัวเองเพิ่มขึ้นด้วยค่ะ

ให้ความสนใจ แต่ไม่มากจนกลายเป็นการตามใจลูกไป เป็นเรื่องปกติค่ะที่เด็กๆ มักจะเรียกร้องความสนใจจากพ่อกับแม่ แต่ถ้าคุณแม่ตามใจทุกครั้งอาจจะทำลูกมีนิสัยที่เอาแต่ใจได้ค่ะ

 

 

ฉะนั้น ในช่วงเวลานี้คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องฝึกความอดทน อดกลั้น อย่าใช้อารมณ์โมโหจัดการกับลูก เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดผลเสียแล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อการจัดการทางอารมณ์ของลูกอีกด้วย ลูกจะเรียนรู้และจดจำพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่  เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวค่ะ


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์