อาการและพฤติกรรมเด็กแบบนี้ รอลูกโตแล้วหายเองได้จริงหรือ?

อาการและพฤติกรรมเด็กแบบนี้ รอลูกโตแล้วหายเองได้จริงหรือ?


อาการหรือลักษณะบางอย่างของทารก เช่นขาโก่ง ตาเข ตาส่อน หรือไม่ชอบดูดนม ไมชอบกินข้าว ซึ่งผู้ใหญ่บางคนมักจะบอกว่า เมื่อโตแล้วจะหายได้เอง มาดูกันว่า อาการใดหายได้เองและอาการใดต้องได้รับการรักษาบ้าง ติดตามอ่านค่ะ

อาการและพฤติกรรมเด็กแบบนี้ รอลูกโตแล้วหายเองได้จริงหรือ? มาไขข้อสงสัยกันค่ะ

1.ลูกตาเข ตาส่อน
เด็กแรกเกิดบางคนจะสังเกตได้ว่า มีตาดำเขเข้าหากัน หากสังเกตดูจะเห็นว่า ตรงหัวตา 2 ข้างที่โคนจมูก มีระยะระหว่างหัวตา ยาวกว่าธรรมดา คล้ายกับมีแผ่นเนื้อแผ่ออกโตขึ้น สันจมูกสูงขึ้น ตา 2 ข้าง จะดูเป็นปกติ ไม่เข ไม่ส่อน

ในกรณีตาเข ตาส่อน เด็กบางคนอาจเกิดความผิดปกติไปจนโต หากลูกน้อยอายุประมาณ 1 ขวบแล้ว แต่อาการตาเข ตาส่อนยังเห็นได้ชัดเจน ต้องปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการรักษาแล้วค่ะ

2.ลูกน้ำตาไหลข้างเดียว
น้ำตาไหลออกมาเพียงข้างเดียว แสดงว่าท่อน้ำตาอุดตัน เมื่อแรกเกิดสังเกตว่าจะมีขี้ตาขาว ๆ อยู่ข้างที่ท่อน้ำตาอุดตัน น้ำตาจะไหลเรื่อยๆ คำแนะนำเบื้องต้นคุณหมอจะให้นวดคลึงเบา ๆ บริเวณหัวตาให้แก่ทารก บางคนเมื่อโตขึ้นสักหน่อยอาการจะทุเลาเบาบางและหายไปได้เอง แต่สำหรับทารกบางคนหากนวดคลึงมาได้สักระยะยังไม่หายต้องปรึกษาคุณหมอค่ะ อาการท่อน้ำตาอุดตันถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างถูกต้องจะไม่สามารถหายขาดเองได้และอาจเกิดการติดเชื้ออักเสบได้ง่ายด้วย

3.ลูกขาโก่ง
ทารกแรกเกิดจนถึงก่อนวัยหัดเดินจะมีขาโก่ง 2 ข้าง เพราะท่าทางของเจ้าตัวเล็กตอนที่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่ นั้นมีหลากหลายท่าทาง เช่น นั่งไขว่ห้าง ตีลังกาเอาหัวลง ก้นโด่ง เรียกว่า ตีลังกา ยิมนาสติกลีลาอยู่ในท้องซึ่งเป็นพื้นที่แคบ ๆ ตั้งแต่ยังไม่คลอดกันเลยทีเดียว ดังนั้นเวลาที่เกิดมาทำให้ลูกมีลักษณะเหมือนขาโก่ง เวลาเริ่มหัดเดินจะเห็นได้ชัด พอเริ่มเดินเก่ง วิ่งเก่งขึ้นขาจะค่อยๆ ยืดตรงขึ้นไปตามวัย แต่ถ้าเริ่มเดิน เริ่มวิ่งเก่งแล้วแต่ยังเดิน ยังวิ่งตุปัดตุเป๋เพราะขายังโก่งโค้งอยู่นั้น แบบนี้ไม่ดีแน่ ๆ เพราะลูกอาจจะเป็นโรคกระดูกอ่อน ตัวเตี้ย ขาโก่ง ฟันขึ้นช้า กระหม่อมด้านหน้าไม่ปิด อาการเช่นนี้ต้องพบคุณหมอเพื่อรักษาเท่านั้นนะคะ ไม่สามารถหายเองได้แม้จะโตแล้วก็ตาม เพราะเป็นผลจากความผิดปกติของอวัยวะในร่างกาย

4.ลูกเป็นเด็กขี้อิจฉา
เด็กบางคนอิจฉาพี่ อิจฉาน้อง พี่น้องไม่สามัคคีกัน พี่น้องที่อายุห่างกัน 2 -3 ปี ถ้าห่างมากกว่านี้มักไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แต่อย่าคิดว่าการอิจฉากันระหว่างพี่น้องจะหายไปเองเมื่อลูก ๆ โตขึ้นนะคะ เพราะหากไม่รีบแก้ไข อาจติดนิสัยไปจนโต พี่น้องไม่มีความสามัคคีกัน คนที่ปวดหัวที่สุดก็คือพ่อแม่นั่นเอง ที่สำคัญการเลี้ยงดูต้องมีความยุติธรรม ไม่ต้องบังคับว่าพี่ต้องเสียสละให้น้องทุกอย่าง เพราะคิดว่าน้องยังเล็กอยู่การเลี้ยงดูเช่นนี้ก่อให้เกิดปัญหามากมายตามมาทีหลัง พ่อและแม่ต้องมีความเที่ยงตรงและยุติธรรม รักลูกให้เท่ากัน สอนให้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกันระหว่างพี่น้อง ลูกจะรักและสามัคคีกันเองค่ะ ไม่ต้องรอให้โตจึงค่อยสอนเพราะจะกลายเป็นไม้แก่ดัดยากเสียแล้ว

5.ลูกเป็นเด็กขี้ปด พูดโกหก
ในช่วงวัย 2 -3 ขวบ ลูกจะเริ่มพูดเป็นเรื่องราวและมักจะพูดตามจินตนาการหรือเรื่องราวในชีวิตประจำวันเลียนแบบผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เล่าเป็นตุเป็นตะราวกับเกิดเรื่องราวนั้นขึ้นมาจริง ๆ แบบนี้เราไม่เรียกว่า ขี้ปดหรือโกหกนะคะ เพราะเป็นพัฒนาการของลูก แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยบอกว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ แต่ถ้าพ้นวัยนี้ไปแล้วประมาณ 5 ขวบ ขึ้นไปยังชอบพูดเรื่องราวไม่จริงอยู่เสมอ แบบนี้ไม่ดีแน่ ต้องเรียกว่า ขี้ปดแล้วค่ะ คุณแม่อาจใช้วิธีการสอนโดยการเล่านิทานหรือหาเรื่องราวที่เกี่ยวกับการโกหกแล้วทำให้เกิดความเสียหายมายกตัวอย่างให้ลูกได้ฟัง ได้ดู แต่อย่าไปต่อว่าลูกว่า เป็นเด็กโกหกซ้ำ ๆ นะคะ เพราะเท่ากับตอกย้ำพฤติกรรมมากขึ้นไปอีกและเด็กจะยิ่งทำพฤติกรรมนั้นซ้ำ ๆ ต่อไป

จากที่ได้บอกไปนั้น พฤติกรรมหรือาการต่างๆ เหล่านี้ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพราะบางอย่างไม่สามารถหายเองได้แม้ลูกจะโตขึ้นแล้วก็ตาม รวมไปถึงการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ต้องมีความรักและความเข้าใจในตัวลูกจึงจะนำไปสู่การปลูกฝังนิสัยที่ดีต่อไปในอนาคตค่ะ

เครดิตแหล่งข้อมูล : แม่รักลูก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์