8 ขั้นตอน สอนลูกรู้จักค่าของเงิน

8 ขั้นตอน สอนลูกรู้จักค่าของเงิน

ก้าวแรก

การจะสอนลูกให้รู้จักค่าของเงิน คุณควรเริ่มสอนทันทีที่ลูกโตพอออกไปซื้อของหรือกดเงินจากเครื่องเอทีเอ็มกับคุณได้ สำหรับเด็กวัย 3-4 ขวบ เอทีเอ็มนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะมาก ก่อนพาลูกไปกดเงิน คุณควรเล่าให้ลูกฟังว่าคุณต้องทำงานเพื่อให้ได้เงินมาไว้ในบัญชีธนาคาร และเมื่อไปกดเงินที่เครื่องเอทีเอ็ม คุณสามารถสอนลูกได้ว่าเงินไม่ได้ออกมาจากช่องจ่ายบนเครื่องเฉยๆ แต่ออกมาจากบัญชีของคุณ ทำให้คุณมีเงินเหลือในบัญชีน้อยลง ถ้าอยากให้มีเงินกลับขึ้นมาเท่าเดิม คุณก็ต้องทำงานอีก

นับเหรียญและธนบัตร

สำหรับเด็กเล็ก เราสอนลูกเรื่องสกุลเงินและวิธีนับค่าเงินของเหรียญกับธนบัตรได้ค่ะ ลองเล่นเกมนับเหรียญเรียงเป็นตั้งๆ ให้ได้ค่าเงินตามที่กำหนดไว้ หรือคุณอาจสอนลูกให้ค่อยๆ เก็บออมเพื่อซื้อขนมที่ลูกชอบ ลูกจะได้เรียนรู้เรื่องค่าเงิน

ซื้อไปด้วยเรียนไปด้วย

สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาอีกสักหน่อยและเคยไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตกับคุณแล้ว บอกให้ลูกเลือกซื้อของใช้ในบ้านสักชิ้น สอนลูกให้รู้จักแยกแยะราคาของสินค้าประเภทเดียวกันว่าชิ้นไหนถูกชิ้นไหนแพง กำลังซื้อของครอบครัวเป็นหัวข้อสำคัญในบทเรียนนี้ค่ะ และซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นสถานที่ที่เหมาะใช้สอนลูกอย่างยิ่งว่าอะไรคือ "ของจำเป็น" และอะไรคือ "ของฟุ่มเฟือย"

เริ่มสอนเรื่องเงินเชื่อหรือเครดิต

ถ้าลูกรบเร้าให้คุณซื้อของเล่นสักชิ้น อย่าดุว่าหรือซื้อให้ลูกทันทีนะคะ คุณควรต่อรองให้ลูกออมเงินไว้ซื้อเองวันหลัง หากพูดยังไงลูกก็ไม่ฟัง นี่อาจเป็นโอกาสดีที่คุณจะสอนลูกเรื่องเงินเชื่อหรือเครดิตค่ะ เริ่มจากบอกลูกว่าคุณจะให้ลูกยืมเงินไปซื้อของก่อน และลูกต้องหาเงินมาคืนให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่อย่างนั้นลูกต้องจ่ายเงินคุณเพิ่มเป็นค่าดอกเบี้ยตามอัตราที่คุณกำหนด ถ้าคุณปลูกฝังนิสัยนี้ให้ลูกได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ลูกจะเห็นคุณค่าของของแต่ละชิ้นว่าหาซื้อมาได้ด้วย "เงินของตัวเอง"

เปิดบัญชีธนาคารและทำบัตรเดบิตให้ลูก

เมื่อลูกโตพอจะมีเงินค่าขนมแล้ว สอนให้ลูกรู้จักพื้นฐานของการทำงานหาเงินและทำบัญชีรายรับรายจ่าย คุณอาจให้ลูกดูสลิปเงินเดือนของคุณและเล่าให้ลูกฟังคร่าวๆ ว่าคุณใช้เงินกับเก็บออมเงินอย่างไร คุณอาจเปิดบัญชีธนาคารให้ลูกและย้ายเงินรับขวัญหรือเงินที่ลูกได้รับจากญาติๆ ในโอกาสพิเศษต่างๆ มาไว้ในบัญชีนี้ เด็กๆ ชอบที่จะได้รู้สึกว่าตัวเอง "เป็นผู้ใหญ่" ธนาคารบางแห่งมีบัตรเดบิตสำหรับเด็กด้วย การให้ลูกได้เป็นเจ้าของบัตรสักใบนับเป็นความคิดที่ดีตราบใดที่คุณหมั่นติดตามการใช้จ่ายของลูกค่ะ

ตั้งงบและติดตามค่าใช้จ่าย

วัยรุ่นและวัยย่างเข้าวัยรุ่นพร้อมจะเรียนรู้เรื่องงบและการตั้งเป้าแล้วค่ะ แนะแนวทางให้ลูกหัดตั้งงบสำหรับค่าใช้จ่ายประจำ เช่น เงินค่าเติมมือถือ ค่าดูหนัง ค่ากาแฟเวลาออกไปเที่ยวกับเพื่อน เด็กยุคปัจจุบันไวเรื่องเทคโนโลยี บอกให้ลูกใช้แอพติดตามค่าใช้จ่ายของตัวเองดูก็เป็นความคิดที่ไม่เลวค่ะ สำหรับลูกวัยรุ่น ถ้าคุณต้องการสอนเรื่องการวางแผนการเงิน ลองแนะนำให้ลูกฝากเงินบางส่วนในบัญชีประจำเพื่อดอกเบี้ยที่สูงกว่า ลูกจะได้เรียนรู้ถึงข้อแตกต่างของการออมเงินแต่ละประเภท

หมั่นตรวจสอบค่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย

ปัจจุบันเด็กสามารถเข้าถึงแอพขายของทางมือถือได้อย่างง่ายดาย และอาจเผลอใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย คุณควรหมั่นตรวจสอบเรื่องนี้ แต่อย่าถึงกับห้ามลูกใช้มือถือนะคะ คุณควรสอนลูกให้เขียนรายการของที่อยากได้และให้ศึกษาหลายๆ เว็บดูว่าที่ไหนขายของนั้นๆ ถูกที่สุด และเน้นย้ำถึงความแตกต่างระหว่าง "ของจำเป็น" กับ "ของฟุ่มเฟือย" ที่สำคัญคือลูกต้องใช้เงินให้อยู่ในงบค่าขนมของตัวเองเท่านั้นค่ะ

ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง

ข้อสุดท้ายแต่สำคัญที่สุดคือคุณต้องเป็นตัวอย่างให้ลูก อย่าลืมค่ะว่าลูกเปรียบเสมือนฟองน้ำที่จะดูดซับนิสัยทุกอย่างของคุณ ทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างด้วยการตั้งเป้าหมายทางการเงิน เก็บออมเงินฉุกเฉินและใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด ถ้าคุณมีความรับผิดชอบต่อการใช้เงินของคุณเอง คุณก็จะส่งต่อค่านิยมเดียวกันนี้ให้ลูก และคุณจะมั่นใจได้ว่าลูกสามารถบริหารเงินของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อพ้นอกคุณไปค่ะ

 


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์